ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้มีสุขภาพดี
การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะถ้าผู้สูงอายุสุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยบ่อย แน่นอนเราในฐานะลูกหลานคงไม่สบายใจ และคงเป็นกังวลอย่างมากกับอาการเหล่านั้นที่เกิดขึ้นกับท่านเราคงไม่อยากเห็นพ่อ แม่ พี่น้องเราไม่มีความสุขในบั้นปลายชีวิต เราควรดูแลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี แข็งแรงตั้งแต่เนิ่นๆ
ผู้สูงอายุมักมีปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต เนื่องมาจากการเสื่อมสมรรถภาพของร่างกายตามอายุขัยที่เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีสุขภาพดี มีความสุขทั้งกายและจิตใจทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ทั้งนี้บุคคลในครอบครัวมีบทบาทสำคัญมากในการดูแลผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจปัญหา เพื่อจะได้ดูแลสุขภาพและสภาพแวดล้อมของผู้สูงอายุอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป
-
การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นสำคัญอย่างไร?
-
ดูแลผู้สูงอายุทำได้อย่างไร?
-
วิธีจัดสภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุ
-
จัดโภชนาการที่ดีสำหรับผู้สูงอายุ
-
ปัญหาและวิธีรับมือการดูแลผู้สูงอายุ
ที่มารูปภาพ https://www.dop.go.th/th/know/15/409
การดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีนั้นสำคัญอย่างไร?
เมื่ออายุมากขึ้น ผู้สูงอายุหลายคนมักรู้สึกเหนื่อยง่ายและเคลื่อนไหวได้ช้าลง ผู้สูงอายุบางคนอาจรู้สึกอ่อนเพลียและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลำบากขึ้น อาการเหล่านี้เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ เราเรียกว่าภาวะแบบนี้ว่า ภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุ หรือเฟรลตี้ (Frailty) ผู้สูงอายุที่ประสบภาวะนี้จะรู้สึกอ่อนแรง เหนื่อย ไม่มีแรง รวมทั้งน้ำหนักลดลงเอง บุคคลในครอบครัวต้องหมั่นสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่ของเราเกิดอาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุหรือไม่ จากอาการที่จะยกมากล่าวต่อหลังจากนี้ หากเกิดอาการ 3 อย่างขึ้นไป อาจหมายถึงว่าผู้สูงอายุประสบภาวะดังกล่าวอยู่ ควรให้ความสำคัญเพื่อจะได้มีสุขภาพดีขึ้น
อาการที่อาจจะเกิดได้แก่:
- รูปร่างผอมลง น้ำหนักตัวลดลงประมาณ 5 กิโลกรัมหรือมากกว่านั้น
- เกิดอาการอ่อนเพลีย ยืนเองไม่ค่อยได้หรือไม่มีแรงที่จะถือสิ่งของ
- รู้สึกเหนื่อยง่ายมาก ทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ค่อยได้ ทำเพียงนิดหน่อยก็จะมีอาการเหนื่อย
- สมรรถภาพในการทำกิจกรรมลดลง อาทิ ออกกำลังกาย ทำงานบ้าน หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่เคยชอบ แต่ทำไม่ได้เหมือนแต่ก่อน
- เดินช้าลง โดยใช้เวลาเดินในระยะทาง 5 เมตร มากกว่า 6-7 วินาที
อาการภาวะเปราะบางในผู้สูงอายุส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้การแต่งตัว ตื่นนอน ลุกจากเตียง เดินเข้าห้องน้ำ หรือไปเที่ยวได้ลำบาก อีกทั้งอาจหกล้มได้ง่าย ร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดภาวะนี้ขึ้นในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพทำให้ภาวะดังกล่าวแย่ลงอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุซึ่งมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มักมีโอกาสติดเชื้อ รวมทั้งฟื้นตัวจากอาการป่วยหรือการได้รับบาดเจ็บต่างๆได้ยาก ฉะนั้นบุคคลในครอบครัวจึงควรดูแลญาติผู้ใหญ่ของตนให้มีสุขภาพดีและถูกต้องตามหลักการดูแลผู้สูงอายุ