องค์การและการจัดการภาครัฐ

images 2

ที่มา : https://www.depa.or.th/th/article-view/innovation-goverment

“การสร้างองค์กรนวัตกรรมภาครัฐ และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทย”

ความสำคัญของเมืองกับการพัฒนานวัตกรรม

จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ “เมือง” ได้กลายเป็นพื้นที่ที่คนมากกว่า 55 % บนโลกในปัจจุบันนั้นอาศัยอยู่ ซึ่งสาเหตุสำคัญนั้นมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจ โดยฉพาะการที่ภาคการเกษตรและภาคการผลิตแบบดั้งเดิม (Traditional Agriculture and Manufacturing) ถูกแทนที่ด้วยภาคบริการ อาทิ การเงิน ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงกว่า เศรษฐกิจจึงเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด ผนวกกับการที่เทคโนโลยีใหม่ ๆ ถูกพัฒนาขึ้น ทำให้เครื่องจักร และระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation) ซึ่งนอกจากจะสามารถทำงานแทนคนได้แล้ว ยังมีความแม่นยำ และประสิทธิภาพสูงกว่า ความจำเป็นในการใช้แรงงานคนในระบบการเกษตร และภาคการผลิตแบบดั้งเดิมจึงลดน้อยลง ทั้งสองเหตุผลหลักนี้เป็นปัจจัยที่ทั้งผลัก และดึง (Push and Pull Factor) ให้เกิดการย้ายถิ่นฐานของคนเข้ามาสู่เมือง อาทิ มาหางานทำ มาศึกษาหาความรู้ หรือย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัย การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม จึงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองที่มีการเจริญเติบโต และลักษณะเฉพาะคือ มีความหนาแน่น (Density) มีความกะทัดรัด (Compactness) และมีความหลากหลายทางสังคม (Cultural Diversity)

“ความเป็นเมือง” (Urbanity) นี้เอง ที่นักคิด นักวิจัย หลายท่านมองว่าเป็นที่มาของ “ความคิดสร้างสรรค์” (Creativity) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เพราะเมืองคือสถานที่รวมผู้คนหลากหลายความถนัด และความเชี่ยวชาญมาอยู่ด้วยกัน พบเจอกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน บนพื้นฐานของข้อจำกัดเดียวกัน อาทิ ความหนาแน่นของคน และความจำกัดของพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิด ความสนใจ ที่จะร่วมมือกันแก้ปัญหาเหล่านั้น นำมาสู่วิธีการแก้ปัญหา (Solutions) ใหม่ ๆ ซึ่งในที่สุดก็จะถูกนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดเป็น “ระบบนิเวศ” (Ecosystem) ของนวัตกรรม การพัฒนานวัตกรรมจึงเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุด เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และสภาพการณ์ของสังคม จึงอาจจะกล่าวได้ว่า นวัตกรรมแทบทั้งหมดที่ส่งผลต่อชีวิตของเราจากในอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น มีที่มาจาก “ความเป็นเมือง” นี่เอง

ดังนั้นแล้ว เมืองที่มีสภาพแวดล้อมที่ดี มีความเท่าเทียมของผู้อยู่อาศัย และทำให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเหมือนเป็น “บ้าน” ของตัวเอง ไม่ว่าแท้จริงแล้วภูมิลำเนาเดิมจะมาจากที่ไหน จะส่งผลดีต่อการสร้างนวัตกรรม เมื่อเราย้อนกลับมามองว่า จำนวนผู้อยู่อาศัยบนโลกที่อยู่ในเขตเมือง จะเพิ่มขึ้นสูงถึงกว่า 68 % หรือเกินสองในสามของโลกในอีกสามทศวรรษข้างหน้า คำกล่าวที่ว่า “อนาคตของเมือง คือ อนาคตของการพัฒนานวัตกรรม” จึงฟังดูไม่เกินจริงไปนัก การพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ก็คืออนาคตของคนส่วนใหญ่ของโลก เมื่อมาวิเคราะห์ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเอง ก็จะเห็นว่าความเป็นเมืองมีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของสังคม และวิถีชีวิต เศรษฐกิจการค้า ภูมิรัฐศาสตร์ ของชีวิตคนไทยในรูปแบบเดียวกันนี้

ทว่า นอกจาก “เมือง” จะเป็นสถานที่บ่มเพาะ (Incubation) นวัตกรรมแล้ว ก็ยังเป็นแหล่งผลิตมลภาวะที่ส่งผลกระทบในเชิงลบ ทำให้สภาพแวดล้อมของโลกแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะการใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั้งคิดของผู้อยู่อาศัยในเมือง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น อาคารต่าง ๆ ใช้พลังงานมากกว่าครึ่งของพลังงานที่ถูกใช้ในเมืองทั้งหมด เนื่องเพราะระบบธุรกิจที่เป็นลักษณะการให้บริการ อาคารเหล่านี้จึงต้องใช้พลังงานไฟฟ้าปริมาณมาก และเป็นเวลายาวนานในแต่ละวัน

เมื่อย้อนกลับไปดูที่มาของการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน ซึ่งยังเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด และไม่หมุนเวียนแล้ว ก็จะเห็นว่าการใช้ไฟฟ้าอย่างสิ้นเปลืองนี้ ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดสภาวะเรือนกระจก (Greenhouse Effect) และปัญหาด้านมลภาวะต่าง ๆ เช่น ฝุ่นละออง มลภาวะทางอากาศ และน้ำ นอกจากนั้นภาวะความเป็น “เมือง” นี้เองที่บีบบังคับให้ “คนเมือง” กลายสภาพมาเป็นผู้บริโภคที่สร้างขยะจำนวนมหาศาล ซึ่งปัญหาขยะเป็นผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม ที่อาจต้องใช้เวลาหลายศตวรรษในการทำให้สภาพแวดล้อมย้อนกลับมาอยู่ในสภาพที่เป็นผลดีต่อสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่ใช้ประโยชน์ และอยู่อาศัยบนโลกใบนี้ร่วมกัน

นวัตกรรมและความเป็นเมืองอัจฉริยะ

การพัฒนาเมืองให้มีศักยภาพสูงขึ้น จึงเป็นทั้งปัจจัยที่สนับสนุน และบ่มเพาะการสร้างนวัตกรรม (Innovation Incubator) และระบบนิเวศ (Ecosystem) ซึ่งทั้งสองสิ่งมีความสำคัญต่อการผลักดันให้เกิดนวัตกรรม ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาเมือง หนึ่งในแนวทางที่เป็นที่ยอมรับ คือ แนวทาง “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “Smart City” ซึ่งก็คือ เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการบริหารจัดการเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อยู่อาศัย เทคโนโลยีที่จำเป็นในการสร้าง Smart City นั้นมีหลายประเภท แต่ที่สำคัญที่สุด คือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ แปลข้อมูลดิบให้เป็นข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ ทำให้การตัดสินใจนั้นตรงจุด หรือแม่นยำที่สุด

ประเด็นที่สำคัญคือ “Smart City” ไม่ใช่ ผลลัพธ์ (Output) แต่เป็น กระบวนการ (Process) ที่ทำให้เมืองมีศักยภาพดังที่กล่าวมาข้างต้น ผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างไม่หยุดหย่อน เริ่มที่การตั้งกรอบกระบวนการการพัฒนาให้เมืองดำเนินการเป็นขั้น ๆ โดยกระบวนการพัฒนาที่จะทำให้เมืองก้าวเข้าสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนที่สุด จะต้องมีองค์ประกอบอย่างน้อย ดังนี้

(1) การกำหนดขอบเขตและวิสัยทัศน์ของเมืองตามความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และปัจจัยเฉพาะ อื่น ๆ ของพื้นที่

(2) แนวทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะที่ครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และอาจครอบคลุมถึงโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม โครงสร้างพื้นฐานพลังงาน สาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานอื่นใด ที่สอดคล้องกับเป้าหมาย วัตถุประสงค์ รูปแบบและประเภทของเมืองอัจฉริยะที่ขอรับการพิจารณา

(3) แนวทางการพัฒนาระบบจัดเก็บและบริหารข้อมูลของเมือง (City Data Platform) โดยมีการเชื่อมโยงหรือการให้ใช้งานข้อมูลในการบริหารจัดการ การให้บริการในพื้นที่เมืองอัจฉริยะ แนวทางการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ ของเมืองอัจฉริยะและการดูแลความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล

(4) รายละเอียดการพัฒนาพื้นที่เมืองอัจฉริยะและบริการระบบเมืองอัจฉริยะ กิจกรรมหรือโครงการที่สอดคล้องกับประเภทและลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ขอรับการพิจารณาตาม (1)

(5) แนวทางการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ทั้งในรูปแบบภาครัฐหรือภาครัฐร่วมเอกชนหรือภาคชนหรืออื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะกำหนด ทั้งนี้ เนื่องจากเมืองแต่ละเมืองมีความต้องการที่แตกต่างกัน เมืองที่ต้องการพัฒนาเป็น “Smart City” สามารถเริ่มที่ด้านที่มีความพร้อมและความจำเป็นก่อน โดยในภาพรวมแล้ว นโยบาย“Smart City” ของประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะนำพาประเทศไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูง ที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำในทุกด้าน และยกระดับสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว รัฐบาลได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสำคัญ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากการพัฒนา “Smart City” คือการพัฒนากระบวนการ ศูนย์กลางของ “Smart City” จึงไม่ใช่เทคโนโลยี แต่เป็น “คน” ดังนั้นจึงสำคัญยิ่งที่เมืองจักต้องกำหนดกรอบการพัฒนาของตนเองที่ จัดลำดับความสำคัญ (Prioritize) ตอบโจทย์ความต้องการของคนในเมืองตัวเองที่สุด และพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทีละขั้น ซึ่งถ้าเมืองเข้าใจความต้องการของคนในเมืองมากกว่า และจัดลำดับการลงทุนได้ดีกว่า เมืองที่มีต้นทุนน้อยกว่าก็อาจจะสามารถที่จะพัฒนาเป็นเมืองน่าอยู่ที่ดีกว่าเมืองที่มีต้นทุนสูง แต่ไม่ได้เข้าใจความต้องการของคนก็เป็นได้ ซึ่งก็สามารถจัดได้ว่าเป็นนวัตกรรมการพัฒนาเมืองรูปแบบหนึ่ง ในอดีตและปัจจุบัน เราเห็นเมืองทั้งสองประเภทมาแล้วไม่น้อย ประเทศไทยเองก็เรียนรู้จากทั้งสองบทเรียนนี้ รวมไปถึงบทเรียนอื่น ๆ จากประสบการณ์ของเมืองที่พัฒนาได้ตามเป้า และไม่ได้ตามเป้า เพื่อจะได้บทเรียนที่เป็นประโยชน์ที่สุด

การส่งเสริม “Smart City” ของภาครัฐ

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนประเทศด้วยเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนคุณค่าไม่ใช่ปริมาณ หรือที่เรียกว่า “Value-Based Economy” ซึ่งก็คือ การนำเอานวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาช่วยในการขับเคลื่อน “Smart City” จากภาคประชาชนขึ้นมา หรือที่เรียกว่าแนวทางแบบ “Bottom-Up” เมื่อเมืองเจริญ ประเทศก็จะเจริญขึ้นตามลำดับ ปัจจุบันภาครัฐ มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเมืองอัจฉริยะประเทศไทย แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการกำหนดแผนแม่บทของเมืองอัจฉริยะประเทศไทยและมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” (“depa” ย่อจากชื่อภาษาอังกฤษของสำนักงาน คือ Digital Economy Promotion Agency) เป็นสำนักงานเลขาฯ พร้อมกำหนดรูปแบบและเกณฑ์การพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะสามารถสมัครเข้ามาที่ ดีป้า เพื่อขอรับการส่งเสริมและสิทธิประโยชน์ จากภาครัฐ อาทิ สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI สิทธิประโยชน์ของการเป็นเขตทดสอบ ทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือ “Sandbox” (แปลว่า กระบะทราย เป็นอุปมาว่าเปรียบเสมือนพื้นที่ทดลองที่แยกออกมาให้ใช้ทดลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องกังวล) ของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นต้น

ทั้งนี้ คำว่า “เมือง” ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นพื้นที่ของภาครัฐเสมอไป เอกชนที่มีพื้นที่ เช่น นิคมอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา หรือภาคเอกชนที่จับมือกับเมือง สามารถยื่นข้อเสนอโครงการเข้ามาที่ ดีป้า เพื่อขอรับการส่งเสริมพัฒนาสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะได้ โดยเป้าหมายของประเทศต้องการ 100 เมือง ในปี 2565 ที่มีแผนพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 40 แห่ง สามารถอ่านรายละเอียดได้จาก เว็บไซต์ www.smartcitythailand.or.th

กระบวนการในการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ

คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองเมืองอัจฉริยะประเทศไทย ได้มีมติให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์การประเมิน คุณสมบัติ วิธีการและกระบวนการในการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ ตามประกาศคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ที่ 1/2562 ลงวันที่ 8 มีนาคม 2562 โดยหลักเกณฑ์ฯ ประกอบด้วย นิยาม ประเภท และลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ กระบวนการขอรับการพิจารณาประกาศ เป็นเมืองอัจฉริยะ การพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะ การกำกับดูแลและติดตามประเมินผล และการต่ออายุ และการยกเลิกการเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมทั้งจัดทำเป็นคู่มือการจัดทำแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ข้างบนเช่นกัน) เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ยื่นข้อเสนอเกิดความเข้าใจในหลักเกณฑ์ ขั้นตอน กระบวนการในการยื่นข้อเสนอเพื่อเป็นผู้พัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังต่อไปนี้

ลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ได้แบ่งประเภทของเมืองอัจฉริยะเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเมืองเดิม (Livable City) คือ เมืองเดิมที่พัฒนาให้เป็นเมืองน่าอยู่ด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมควบคู่กับการคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่โดดเด่น และกลุ่มเมืองใหม่ (New City) คือเมืองที่ได้รับการพัฒนาพื้นที่ขึ้นมาใหม่ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้มีความทันสมัย โดยแบ่งลักษณะของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ 7 ด้านไว้ดังนี้

ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เมืองที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ

ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เมืองที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจ จัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น เกษตรอัจฉริยะหรือเมืองท่องเที่ยว

ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาระบบจราจรขนส่งอัจฉริยะโดยเพิ่มประสิทธิภาพและความเชื่อมโยงของระบบขนส่งและการสัญจรที่หลากหลาย

ด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) เมืองที่สามารถบริหารจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างสมดุลระหว่างการผลิต และการใช้พลังงานในพื้นที่ เพื่อความมั่นคงและลดการพึ่งพาพลังงานจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลัก

ด้านพลเมืองอัจฉริยะ (Smart People) เมืองที่มุ่งเน้นพัฒนาองค์ความรู้ และทักษะที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจตลอดจนเปิดกว้างสำหรับความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชน

ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) เมืองที่มีการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก โดยคำนึงถึงหลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ให้ ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัย และมีความสุข

ด้านการบริหารภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) เมืองที่พัฒนาระบบบริการภาครัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐโดยมุ่งเน้นความโปร่งใส การมีส่วนร่วม และมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องผ่านการประยุกต์ใช้นวัตกรรมบริการ

เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะของ “ดีป้า”

เพื่อให้การขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลจึงออกประกาศเรื่อง การประกาศเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ และ เรื่อง การรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการพิจารณาเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2562 โดยมีสรุปสาระสำคัญของเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ดังนี้

“เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ” (Smart City Promotional Zone) หมายถึง พื้นที่ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลประกาศและกำหนดให้เป็น เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ โดยมีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและความมั่นคงในภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (2) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากำลังคนและพลเมืองดิจิทัลในพื้นที่ (3) เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะ (4) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองเข้าสู่ระบบการเป็นเมืองอัจฉริยะ และ (5) เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการพัฒนาเมืองให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่และส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่อยู่ดีมีสุข โดยที่เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะได้รับสิทธิประโยชน์สำหรับเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ตามประกาศสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ประกอบด้วย

(1) ได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยสำนักงานจะให้คำปรึกษา รวมถึงให้ข้อเสนอแนะ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการเป็นเมืองอัจฉริยะของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

(2) ได้รับการส่งเสริมในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะเชิงนโยบาย ผ่านเครือข่ายภาครัฐและภาคเอกชน โดยสำนักงานจะเป็นศูนย์กลางความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างประเทศ

(3) ได้รับการส่งเสริมในการขับเคลื่อนและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนอื่นๆ ตามที่สำนักงานกำหนด

(4) ได้รับสิทธิเข้าร่วมหลักสูตรพัฒนาศักยภาพผู้นำเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ประเทศไทย (Chief Smart City Officers หรือ CSCOs)

บทส่งท้าย

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อย้ำถึงความสำคัญของการสร้างสภาพแวดล้อม และระบบของเมืองที่มีต่อการสร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของภาครัฐ ซึ่งแม้ว่าเป้าประสงค์ และประโยชน์ที่จะได้รับจะมีความชัดเจน การพัฒนา “Smart City” ในประเทศไทยเองก็มีทั้งโอกาสและความท้าทายผสมกันอยู่ โดยทาง “ดีป้า” เองก็มีแนวทางในสร้างการโอกาสและตอบโจทย์ความท้าทายต่าง ๆ อาทิ ความเข้าใจในความหมายของ “Smart City”

เนื่องจากการพัฒนาเมืองอัจฉริยะถือเป็นเรื่องใหม่ ดังนั้นบทบาทหน้าที่หลักของดีป้าคือการสร้างความเข้าใจ เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ไม่ว่าจะเป็นฝั่งอุปสงค์ (Demand) เช่น เมืองเอง หรืออุปทาน (Supply) คือผู้ผลิตเทคโนโลยีที่จำเป็นในการพัฒนาเมือง มีความเข้าใจ และพร้อมที่จะดำเนินงาน ความท้าทายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสอันดีที่ทั้งฝ่ายอุปสงค์และอุปทานจะทำงาน ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยีร่วมกัน ทั้งนี้ทาง “ดีป้า” ได้ออกแบบหลักสูตร “ผู้นำนักพัฒนาเมืองอัจฉริยะ” หรือ Chief Smart City Officer (CSCO) เพื่อสร้างนักพัฒนาเมืองอัจฉริยะ โดยหลักสูตรจะมุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่สามารถนำไปใช้ได้จริง (Practical) อาทิ แนวคิดสำคัญ และเหตุผล และการวางแผนการประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีกับการพัฒนาเมือง พร้อมการประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ เนื่องเพราะกรอบการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ต้องมีการประยุกต์เอาแนวความคิดด้านการลงทุนใหม่ ๆ เช่น การตั้งบริษัทพัฒนาเมือง (City Development Company) การลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnership (PPP) โดยที่ไม่ได้มองว่าการดำเนินงานเป็นการให้เปล่า แต่มีแนวทางการดำเนินงานทางธุรกิจให้ผู้ร่วมทุนเองได้ประโยชน์มีรายได้ และเอารายได้นั้นมาบริหารและพัฒนาโครงการต่อ โดยหลักสูตร CSCO นี้ได้เริ่มรับสมัครลงทะเบียนแล้ว และจะเริ่มหลักสูตรภายในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2563 โดยที่ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนแจ้งความจำนงรับสิทธิ์เข้าเรียนหลักสูตร และสอบถามได้ที่ ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะของ “ดีป้า” ที่อีเมล์ scp@depa.or.th

ขณะเดียวกัน สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความรู้ความเข้าใจของนักพัฒนาเมือง ก็คือ ทัศนคติต่อเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงของผู้อยู่อาศัยในเมือง ทาง “ดีป้า” จึงได้ริเริ่มโครงการ “นักดิจิทัลพัฒนาเมือง” (Smart City Avengers) โดยดึงเอาผู้ที่เพิ่งจบการศึกษาในทุกสาขาวิชา ที่มีความกระตือรือร้นในการหาโอกาสในการประกอบอาชีพในแนวทางใหม่ ที่มีความสนใจในด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และการพัฒนา มาเรียนรู้ศาสตร์การพัฒนาเมืองด้วยเทคโนโลยี ขั้นตอนการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ และปริมาณจากของภาคประชาชนเพื่อไปทำหน้าที่ “นักดิจิทัลพัฒนาเมือง” ประสานความเข้าใจระหว่างภาครัฐ เมือง ประชาชน เอกชน สถาบันการศึกษา รวมไปถึงพันธมิตรการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้งในและนอกประเทศ นอกจากโครงการนี้จะช่วยสร้างงานอันเนื่องมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้ว ยังพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ทำให้เกิดการสร้างนักพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ซึ่ง “นักดิจิทัลพัฒนาเมือง” สามารถนำไปใช้ในการประกอบอาชีพของตนเอง หรือใช้ในการค้นหาความชอบของตนเองที่แท้จริง

เมื่อ “นักดิจิทัลพัฒนาเมือง” ไปทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เมืองก็จะได้รับประโยชน์ สามารถพัฒนาก้าวข้ามความคิดเดิม โดยเฉพาะที่ว่าการพัฒนาเมือง ต้องเป็นการพัฒนาทางกายภาพเท่านั้น เทคโนโลยีดิจิทัลมีศักยภาพในการส่งเสริมการพัฒนาทางกายภาพในแบบ “ทำน้อยแต่ได้มาก” เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงหน้าที่ “นักดิจิทัลพัฒนาเมือง” จะเป็นตัวแทนทำหน้าที่ในท้องถิ่น เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและปรับเปลี่ยนวิธีคิด เห็นประโยชน์ของการลงทุนที่น้อยกว่าเพื่อให้ได้ประโยชน์ที่มากกว่าของเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้อยู่ในระหว่างการวางแผน และจะเริ่มขึ้นในเร็ววันนี้

ท้ายที่สุด เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรับรู้ทั้งในระดับชาติ และระดับนานาชาติ ถึงการส่งเสริมเมืองน่าอยู่อัจฉริยะของประเทศไทย “ดีป้า” จะจัด “งานสัปดาห์มหกรรมเมืองอัจฉริยะประเทศไทย” (Thailand Smart City Week 2020) ในช่วงเดือนตุลาคม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านนี้ในระดับประเทศ โดยเฉพาะระหว่างเมืองที่กำลังพัฒนาความเป็นเมืองอัจฉริยะ และผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี (Technological Providers) จากทั้งไทยและต่างประเทศ ต่อยอดนวัตกรรมดิจิทัลสู่การทดสอบและนำไปใช้ในเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคน “งานสัปดาห์มหกรรมเมืองอัจฉริยะประเทศไทย” ยังเป็นเวทีให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน Smart City ระดับนานาชาติ โดยเฉพาะระดับภูมิภาคอาเซียน ส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาโครงการเมืองอัจฉริยะในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และสร้างแพลตฟอร์มการเรียนรู้ถาวรทางด้านเมืองอัจฉริยะ (อาทิ CSCO) ต่อไป

“ดีป้า” หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกท่านในการสร้างอนาคตของประเทศไทยด้วยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะด้วยกัน

โดย ดร. ศุภกร สิทธิไชย
ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ด้านโครงการพิเศษและศูนย์พัฒนาดิจิทัลและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

Subscribe
Notify of
guest
3 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments
Sompit Saibunchun
4 months ago

เป็นบทความที่มีประโยชน์มากค่ะ

wanchaichana nunkaiowtrakun

ยอดเยี่ยมครับ

Loading

4/5 - (1 vote)