AI กับการตลาดยุคดิจิทัล (AI Marketing in Digital World)
ในโลกยุคดิจิทัลนี้ คงไม่มีผู้ใดปฏิเสธว่าเทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันในทุก ๆ กิจกรรม อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น การปรับตัวจึงเกิดขึ้น โดยเฉพาะในภาคธุรกิจ เพราะพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนย่อมผันเปลี่ยนไปตามกระแสของโลกดิจิทัลด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุกิจร้านอาหาร จากเดิมที่เคยมีลูกค้ามาถึงที่ร้าน ต้องเปลี่ยนเป็นการเข้าหาลูกค้าผ่านทางโลกออนไลน์หรือ Social Media แทน อย่างไรก็ตาม นอกจากเทคโนโลยีจะเป็นพื้นที่สำหรับการสื่อสารระหว่างเจ้าของธุรกิจและผู้บริโภคแล้ว ยังมีเครื่องมือที่เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง อย่าง AI ที่อยู่เบื้องหลังการเพิ่มยอดขายให้กับธุรกิจต่าง ๆ ยิ่งไปกว่านั้น ตามผลการศึกษาของ McKinsey ยังเผยว่า กรณีการใช้งาน AI ที่มากที่สุดในธุรกิจต่างๆ นั้น คือการใช้งาน AI เพื่อปรับปรุงด้านการขาย (Sales) และการตลาด (Marketing) อีกด้วย
AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ มีบทบาทสำคัญอย่างมากในหลายภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เพราะ AI สามารถช่วยในการวิเคราะห์วางแผนการตลาดและสามารถเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจได้ ตัวอย่างจากแบรนด์ร้านอาหาร Fast Food ชื่อดังอย่าง Subway ที่จับมือกับ IBM Watson ใช้ระบบ AI ที่ชื่อ WEATHERfx Footfall with Watson โดยตั้งค่าให้ระบบปรับแต่งการซื้อโฆษณาออนไลน์ตามข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลยอดขาย และลูกค้าเข้าร้านในแต่ละเวลา เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้ามากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ มีคนเข้าร้านเพิ่มถึง 31% และลดค่าโฆษณาได้ถึง 53% เป็นการเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายไปพร้อมกันอีกด้วย ดังนั้น แนวทางที่ AI จะช่วยนักการตลาดให้ทำงานได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น มีดังนี้
- AI ช่วยโปรโมทสินค้าและทำให้โฆษณามีประสิทธิภาพ AI สามารถวิเคราะห์และช่วยตัดสินใจในการทำโฆษณา และวิเคราะห์ผลลัพธ์เพื่อปรับปรุงให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายและพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรือเรียกกันว่า Retargeting
- AI ช่วยสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ทันสมัย ช่วยออกแบบหน้าเว็บไซต์ได้อย่างสวยงาม เพียงแค่ใส่ข้อมูลที่ต้องการ AI ก็จะนำไปวิเคราะห์และแนะนำการออกแบบหน้าเว็บไซต์ให้กับผู้ใช้ ซึ่งจะช่วยสร้าง Landing Page ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ เพื่อดึงดูดผู้เข้าชมให้เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง AI Web Designer เช่น TheGird, Sasha โดย Firedrop, Wix ADI, B12 เป็นต้น
- AI ช่วยทำ SEO (Search Engine Optimization) หรือ การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกค้นหาได้อย่างง่ายดาย เป็นการช่วยให้เว็บไซต์หรือเว็บเพจได้รับการจัดอันดับไว้อันดับต้น ๆ ของการค้นหา ตัวอย่างเครื่องมือ AI-Power SEO ได้แก่ Google RankBrain ที่ทำงานด้วยระบบการค้นหาที่ทำความเข้าใจบริบทรวมทั้งเนื้อหาของไซต์, Market Brew, Publicity.ai, Logz.io, SEO PowerSuite เป็นต้น
- AI ช่วยให้การสร้างเนื้อหา (Content) ง่ายและดึงดูดใจผู้อ่าน เพราะอัลกอริทึมของ AI สามารถสร้างบทความที่มีเนื้อหาไม่ซับซ้อนได้เอง เช่น รายงานการเงิน ข่าวกีฬา ข่าวหุ้น เป็นต้น หรือหากต้องการความช่วยเหลือ AI สามารถให้ความเห็น ประเมินเนื้อหาหรือข้อมูลเชิงลึกได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำบทความมาสร้างเป็นวีดีโอได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น เครื่องมือ Lumen5 ที่สามารถเปลี่ยนจาก blog post เป็น วีดีโอได้
-
AI ช่วยสร้างความเชื่อมั่นกับกลุ่มเป้าหมายและเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า ด้วย Chatbot หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ออกแบบมาเพื่อจำลองการสนทนากับมนุษย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท ได้แก่
-
แบบที่สามารถตอบโต้โดยตรงกับลูกค้า (Front-end chatbot) ที่ใช้กับการตอบคำถามทั่วไป คำถามง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ที่ลูกค้าจะได้คำตอบแบบตรงไปตรงมา โดยสนทนาตรงกับ AI
-
แบบที่ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่บริการลูกค้าในบทสนทนา (AI assist customer service) ซึ่งลูกค้าจะสนทนากับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการโดยมี AI เป็นผู้ช่วยในการหาคำตอบที่เหมาะสมที่สุดให้เจ้าหน้าที่ และเจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขหรือจัดรูปแบบคำตอบได้ตามความเหมาะสม
-
นอกจากแนวทางการใช้ AI เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยนักการตลาดได้แล้วนั้น ยังมีตัวอย่างธุรกิจชื่อดังที่ปรับตัวและลงทุนกับ AI ในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของธุรกิจตนเอง นอกจากแบรนด์ Subway ที่กล่าวไปข้างต้นด้วย ตัวอย่างดังต่อไปนี้
เมื่อกล่าวถึงร้านกาแฟชื่อดัง แบรนด์ลำดับต้น ๆ ที่คนส่วนมากต้องนึกถึงนั้น ได้แก่ สตาร์บัคส์ (Starbucks) อย่างแน่นอน สตาร์บัคส์มีแอปพลิเคชันที่สามารถบันทึกข้อมูลการสั่งอาหารหรือเครื่องดื่มเก็บไว้ จากนั้น AI เข้ามาทำหน้าที่นำข้อมูลต่าง ๆ ทั้งประวัติการสั่ง เมืองที่อยู่ ช่วงเวลาหรือสภาพอากาศ ณ เวลาที่สั่งเครื่องดื่ม นำมาประมวลผลและสร้าง profile ส่วนบุคคลเพื่อแนะนำเมนูอื่น ๆ ที่ลูกค้าคนนั้นน่าจะชื่นชอบ ตามสถิติของผู้ที่มีพฤติกรรมเดียวกัน
ส่วนในอุตสาหกรรมสื่อและการบันเทิง Netflix หรือ platform จากสหรัฐฯ ที่ให้บริการสตรีมมิงวีดีโอออนไลน์ นำ AI มาใช้ในลักษณะคล้ายกับสตาร์บัคส์คือการประมวลข้อมูลจากประวัติการเลือกชม เวลาที่ชม และอุปกรณ์ที่ใช้เข้าชมเพื่อนำมาทำนายว่าควรจะแนะนำเนื้อหาแบบใดให้กับผู้ชม นอกจากนี้ การแนะนำรายการต่าง ๆ ยังขึ้นอยู่กับเวลาที่เข้าชมด้วย ตัวอย่างเช่น หากเข้าแอปฯ ในเวลากลางคืน Netflix ก็จะแนะนำรายการที่มีระยะเวลาที่สั้น หรือเรื่องที่ยังชมไม่จบ แทนที่จะแนะนำรายการที่ใช้เวลานาน ดังนั้น การใช้ AI จึงช่วยให้ Netflix นำเสนอเนื้อหาที่ใช่ในเวลาที่ควร และยังเพิ่มประสบการณ์ของผู้ชมในทางที่ดีอีกด้วย
หรือจะเป็นอาณาจักรการสั่งสินค้าออนไลน์อย่าง Amazon ก็ใช้ AI เพื่อประมวลผลในการแนะนำสินค้าที่ลูกค้าน่าจะสนใจ ตามฐานข้อมูลที่บันทึกไว้ อาทิ ประวัติการสั่งซื้อ ประวัติการค้นหาสินค้า สินค้าใกล้เคียง สินค้าที่มักจะซื้อร่วมกัน และอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากจะแนะนำสินค้าเพิ่มเติมบนเว็บไซต์แล้ว ยังส่งสินค้าแนะนำไปที่อีเมลอีกด้วย และยังได้ผลถึง 60% (คิดจากสัดส่วนยอดขายตามการแนะนำในอีเมล) ในอุตสาหกรรมความงาม แบรนด์เครื่องสำอางชื่อดังอย่าง Sephora มีประวัติการใช้ AI มาตั้งแต่ปี 2017 ได้แก่ การใช้ Chatbot เข้ามาช่วยในการให้คำแนะนำเรื่องความงาม ทำให้ลูกค้าสามารถเลือกสินค้าที่มีตัวเลือกจำนวนมากได้ง่ายขึ้นตามความชอบส่วนบุคคล โดยที่ไม่ได้ทดลองใช้สินค้าจริง การใช้เทคโนโลยีนี้ทำให้ Sephora ได้ข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า และเห็นว่าเป็นช่องทางเชื่อมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า จึงเกิดการปล่อย Chatbot ในแอปพลิเคชัน Messenger ของ Facebook เป็นลำดับต่อมา
ดังนั้น จากแนวทางการประยุกต์ใช้ AI ในการตลาด พร้อมตัวอย่างการใช้จริงจากธุรกิจที่มีชื่อเสียงข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่า AI ได้กลายเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหรือผู้ช่วยสำคัญของนักการตลาด และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต อย่างไรก็ตาม นอกจากธุรกิจการขายสินค้าและบริการที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นแล้ว AI ยังเข้าไปช่วยธุรกิจและอุตสาหกรรมในอีกหลากหลายด้านด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น การขนส่ง การแพทย์ การศึกษา การท่องเที่ยว และอีกมากมาย ดังนั้น การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยี AI จะก้าวไกลไปทิศทางใดบ้าง คงต้องติดตามกันต่อไป
โดยนางสาวญาณภา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก
- ไทยเอสเอ็มอีเซ็นเตอร์ (http://www.thaismescenter.com/4-แบรนด์ระดับโลกกับการใช้-ai-ต่อยอดธุรกิจ-สุดเจ๋ง/)
- Content Shifu (https://www.contentshifu.com/artificial-intelligence-ai-marketers/)
- Forbes Media (https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2019/08/21/how-artificial-intelligence-is-transforming-digital-marketing/#19c07b221e1b)
- ADVERITY (https://www.adverity.com/ai-marketing/)
- Forbes Media (https://www.forbes.com/sites/bernardmarr/2019/12/09/the-10-best-examples-of-how-companies-use-artificial-intelligence-in-practice/#3f162d7f7978)
- Business 2 Community (https://www.business2community.com/digital-marketing/artificial-intelligence-marketing-is-the-aim-of-advertisers-in-2020-02285970)
- Medium (https://www.medium.com/@MichaelR_design/how-amazon-starbucks-and-netflix-use-ai-to-lock-in-customers-792980f72724) *V share content (https://www.vsharecontent.com/2017/12/13/ai-power-seo/)
- V share content (https://www.vsharecontent.com/2017/12/04/how-ai-design-websites/)
- Wingify Blog (https://www.vwo.com/blog/deliver-personalized-recommendations-the-amazon-netflix-way/)
- Forbes Media (https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2019/06/14/five-ways-to-use-ai-in-marketing-today/#63be9e35292a)
- TopRank Marketing (https://www.toprankblog.com/2016/11/artificial-intelligence-5-brands/)
- MarketWatch (https://www.marketwatch.com/story/starbucks-gets-personal-with-deep-brew-artificial-intelligence-program-2019-10-31)
- Global Strategic Management Institute (https://www.blog.socialmediastrategiessummit.com/10-examples-of-ai-in-marketing/)
- ADPT (https://www.adpt.news/2018/07/23/mckinsey-reveals-largest-business-ai-use-cases-now-are-in-sales-and-marketing/)
- Geo Marketing (https://www.geomarketing.com/ibm-watson-unveils-added-ai-tools-for-marketers-including-weather-related-ad-designs?fbclid=IwAR1-u8SjiVO7b6e3uz9JKE0rqH43P7bSTNgqIib8ExVjWkL0_VbcV4dT2h)
เป็นบทความที่น่าสนใจ