กลยุทธ์ในการแข่งขัน

หลักในการเลือกกลยุทธ์เพื่อข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดย ปรีดี นุกุลสมปรารถนา 

Strategy for Competitive Advantage 1024x682 1

               รูปแบบกลยุทธ์สำหรับการแข่งขัน เพื่อตัดสินใจว่าจุดไหนที่สร้างกำไรสูงสุดและจุดไหนที่สร้างกำไรต่ำสุดสำหรับค่าเฉลี่ยในแต่ละอุตสาหกรรม โดยพื้นฐานของกลยุทธ์นั้นคือหากสามารถสร้างกำไรได้เหนือกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ก็จะสามารถสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้ในระระยาว ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) นั่นเองครับ โดย Competitive Advantage ขั้นพื้นฐานที่ธุรกิจสามารถทำได้นั่นก็คือ การใช้ต้นทุนต่ำ (Low Cost) หรือ การสร้างความแตกต่าง (Differentiation) ซึ่งต้องนำพื้นฐานทั้ง 2 ข้อนี้ไปรวมอยู่กับขอบเขตของกิจกรรมต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ธุรกิจจะทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ ที่ประกอบไปด้วย ผู้นำด้านต้นทุน (Cost Leadership) ความแตกต่าง (Differentiation) ที่เน้นไปยังกลุ่มตลาดแบบกว้างๆ การมุ่งเน้นต้นทุน (Cost Focus) และการมุ่งเน้นความแตกต่าง (Differentiation Focus) จะเน้นไปยังกลุ่มตลาดที่แคบลง

  • ผู้นำด้านต้นทุนต่ำ (Cost Leadership) เน้นต้นทุนในการผลิตให้ต่ำเข้าไว้ หากสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้แสดงว่าศักยภาพของธุรกิจนั้นดีกว่าค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม
  • ความแตกต่าง (Differentiation) เน้นหาจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครในอุตสาหกรรม และต้องสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า รวมถึงตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ได้
  • มุ่งเน้น (Focus) จะเน้นไปที่ขอบเขตการแข่งขันที่แคบลงโดยเลือกเฉพาะส่วนตลาดหรือกลุ่มต่างๆ หากเป็นการมุ่งเน้นต้นทุน (Cost Focus) ก็จำเป็นต้องทำให้ต้นทุนต่ำสุดในตลาดนั้น หากมุ่งเน้นความแตกต่าง (Differentiation Focus) ก็จำเป็นต้องหาจุดต่างในตลาดนั้นๆให้ได้

หลักในการเลือกกลยุทธ์

           สำหรับบริษัทที่กำลังวางแผนจะเข้ามาทำธุรกิจในอุตสาหกรรมหรือตลาดต่างๆ ก็ต้องมีการทำการบ้านค่อนข้างเยอะสักหน่อย แต่หากเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจมาอย่างยาวนานแล้วก็อาจเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น โดยหลักสำคัญในการเลือกกลยุทธ์นั้นมีดังนี้

วิเคราะห์ตัวเอง

          การวิเคราะห์ตัวเองจะทำให้เห็นว่าคุณมีข้อดี ข้อเสีย จุดแข็ง จุดอ่อนอย่างไร เพื่อประเมินศักยภาพในการแข่งขันและวางแผนการเลือกกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม โดยเริ่มจากการทำ SWOT Analysis เพื่อวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณรู้จักตัวเองดีแล้วยังสามารถมองเห็นถึงโอกาสหรือช่องทางในการทำธุรกิจอีกด้วย นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้ VRIO Framework เพื่อนำมาวิเคราะห์ขีดความสามารถในการทำธุรกิจได้อีกครับ

การศึกษาภาพรวม

         การศึกษาภาพรวมในด้านต่างๆถือว่ามีความจำเป็นมากก่อนการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การจะปรับเปลี่ยนธุรกิจครับ โดยการศึกษาภาพรวมนั้นควรครอบคลุมด้าน ตลาดเป้าหมาย ความต้องการของผู้บริโภค คู่แข่งขันในตลาด ทั้งนี้เพื่อดูว่าตลาดนั้นๆมีความต้องการมากน้อยเพียงใด มันคุ้มค่าแก่การเข้าไปลงทุนหรือไม่ ผู้บริโภคมีความต้องการมากน้อยเพียงใด พวกเค้าต้องการอะไร รวมไปถึงจะสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร

เป้าหมายทางธุรกิจ

         การทำธุรกิจควรมีเป้าหมายทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อวางแผนทั้งการผลิตสินค้า กำลังคน การคำนวณงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ และเป้าหมายทางธุรกิจก็ควรสอดคล้องกับการศึกษาภาพรวมและการวิเคราะห์ในด้านต่างๆด้วย ทั้งนี้เป้าหมายทางธุรกิจควรปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ต่างๆ

ความต้องการลูกค้า

          ยุคที่ความต้องการของลูกค้าเป็นตัวกำหนดความอยู่รอดของธุรกิจ หากคุณไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าและไม่สามารถผลิตสินค้าหรือบริการเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้ ก็คงยากที่จะพาธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน ยิ่งคุณสามารถผลิตสินค้าที่สามารถแก้ไข Pain Point ของลูกค้าได้และยังไม่มีใครทำ คุณก็มีโอกาสสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง และกลายเป็นข้อได้เปรียบทางการแข่งขันได้

          ทั้งหมดก็เป็นหลักสำคัญๆในการเลือกใช้กลยุทธ์เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันครับ โดยการเลือกกลยุทธ์นั้นต้องมีการศึกษาข้อมูลมาเป็นอย่างดี และต้องวิเคราะห์รวมถึงหารือกับทุกๆส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูความพร้อม สิ่งที่ต้องเตรียมตัวสำหรับการใช้แต่ละกลยุทธ์นั่นเอง

 
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Loading

Rate this post