เช็กให้ชัวร์! ลูกเป็นเด็กติดเกม (Gaming Disorder) หรือมีปัญหาทางจิตเวชแอบซ่อนอยู่

istockphoto 998979988 1024x1024

  • พ่อแม่หลายๆ​ คนมักให้คำนิยามลูกว่า​ “เด็กติดเกม” เมื่อเห็นลูกใช้เวลามากมายไปกับเกม​ เกม​ และเกม​ จนเริ่มกระทบต่อพัฒนาการของเด็​ก​ในแต่ละช่วงวัย​ ปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต​ ขาดความรับผิดชอบ​ และขาดทักษะการเรียนรู้ด้านอื่นๆ​

    แต่พ่อแม่รู้ไหมว่า สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าโรคติดเกมนั่นก็คือโรคที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของเด็ก! ​ทำให้เด็กเลือกใช้เกมเพื่อการเยียวยา และเพื่อให้พ่อแม่แยกความแตกต่างระหว่าง Gaming disorder และโรคจิตเวชที่ซ่อนอยู่​​ นี่คือข้อมูลที่ พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์  จิตแพทย์ เด็กและวัยรุ่น รพ.พญาไท 2 อยากบอกต่อ…

    อาการที่บ่งชี้ว่าลูกเป็นเด็กติดเกม (Gaming disorder)

    องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุอย่างเป็นทางการว่า การติดเกม หรือ Gaming disorder ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของโรคหรือปัญหาทางสุขภาพตามสถิติระหว่างประเทศ​ หรือที่เรียกว่า ICD-11 โดยเด็กที่ติดเกมจะ​มีอาการบ่งชี้​ตามหลัก WHO​ ดังนี้

    1. หมกมุ่นกับการเล่นเกม โดยขาดการลำดับความสำคัญก่อนหลัง​
    2. เห็นเกมสำคัญกว่าทุกสิ่ง​ จนเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน​ ครอบครัว​ การเรียน​ ความสัมพันธ์​ สังคม​ อาชีพ​ เป็นต้น
    3. เป็นติดต่อกันอย่างน้อย​ 12​ เดือน

    ไม่จำเป็นต้องเลิก! แค่ลดพฤติกรรมติดจอ…ก็ลดปัญหาที่เกิดจากการติดเกม

    สมาคมกุมารแพทย์ศาสตร์สหรัฐฯ หรือ​ American Academy of Pediatrics (AAP) มีคำแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี​ ดูสื่อจากจอต่างๆ​ และเมื่ออายุระหว่าง 2 – 5 ปี สามารถให้เด็กดูได้ตามความเหมาะสม​ (ไม่ควรเกิน​ 2 ชั่วโมง)​ โดย​ พญ. สุนิดา​ แนะนำว่าไม่ควรเกิน 15 – 30 นาที เพราะเด็กควรมีเวลาได้เรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ บ้าง​ เพื่อลดความเสี่ยงของการติดจอ และ การเกิดผลกระทบจากการเล่นเกม ดังต่อไปนี้

    1. ปัญหาด้านสุขภาพ​ เนื่องจากเด็กที่นั่งเล่นเกมเป็นเวลานานมักไม่ได้ออกกำลังกายอาจทำให้เกิดภาวะโรคอ้วน​​หรือตัวเล็กกว่าปกติเพราะกล้ามเนื้อไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว​ นอกจากนี้ยังทำให้เสียสายตา มีปัญหาเรื่องกระเพาะอาหาร​ ส่วนในด้านของสมอง การควบคุมอารมณ์จะต่ำลง การคิดวิเคาระห์ การตัดสินใจในชีวิตจริงอาจไม่กว้างพอ
    2. ขัดขวางพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว​ และพัฒนาการของกล้ามเนื้อ เช่น​ การวิ่งเล่น ปีนป่าย โหนตัว ทรงตัว การกะระยะ และทิศทาง​ ส่งผลให้เด็กอาจเล่นกิจกรรมต่างๆ​ ร่วมกับเพื่อนไม่ได้ และรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
    3. ปัญหาด้านการเรียน เมื่อเด็กติดเกมจะเริ่มสนใจการเรียนน้อยลง​ ความรับผิดชอบจะต่ำลงในทุกๆ​ ด้านเมื่อผลการเรียน​ไม่ดี จะรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองน้อยลง และจะเข้าหาเกมมากขึ้นเรื่อยๆ​ เพราะเกมตอบสนองจินตนาการและสามารถเป็นผู้ชนะได้
    4. ปัญหาความรุนแรง ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเกม​ หากเป็น เด็กเล็กนั้นสามารถเลียนแบบได้อย่างเต็มที่ และหากเกิดการรวมกลุ่ม​ อาจพัฒนาเป็นความรุนแรงในวัยรุ่นได้
    5. ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว​ พญ.สุนิดา​ กล่าวว่า หากเด็กสามารถรับผิดชอบตนเองในด้านอื่นๆ​ ได้ดี​ คือใช้เกมเป็นเพียงเครื่องผ่อนคลาย การเล่นเกมนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่หากผู้ปกครองเริ่มรู้สึกว่าใช้เวลาร่วมกันน้อยลง ควรกลับมาพูดคุยกับเด็ก และจัดสรรเวลาใหม่ และทำกิจกรรมอื่นๆ ทดแทน เช่น ฝึกฝนทักษะดนตรี กีฬา ศิลปะ ร่วมกันมากขึ้น​ เพื่อลดโอกาสการติดเกมได้

    หนูไม่ได้ติดเกม…แต่หนูมีโรคที่ซ่อนอยู่

    พญ.สุนิดา​ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง​ยิ่งกว่า​ คือ​ เด็กบางคนมีโรคซ่อนอยู่โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ พ่อแม่อาจเข้าใจว่าลูกเป็นเด็กติดเกม แต่ความจริงแล้ว​ เด็กใช้เกมเป็นเครื่องมือระบายความรู้สึกต่างๆ ​ออกมา เล่นเกมเพราะไม่อยากยุ่งกับใคร เบี่ยงเบนความคิดแย่ๆ​ ต่อสิ่งรอบตัว​ หรือ เล่นเกมเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิม

    โรคที่พบได้บ่อยคือโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งทำให้เด็กมีอาการ กังวล หงุดหงิด ฉุนเฉียว​ ก้าวร้าว แยกตัว ในบางรายมีภาวะหลงผิด ระแวงกลัว ร่วมด้วย ในกรณีเช่นนี้​ “เกม” ไม่ใช่ปัญหา​ แต่เป็นวิธีที่เด็กใช้เยียวยาโรคที่ซ่อนอยู่ต่างหาก​ นี่คือสิ่งที่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ

    ดังนั้นขั้นตอนการวินิจฉัย​ แพทย์จึงต้องนำเงื่อนไขเด็กติดเกมออกไปก่อน แล้ววินิจฉัยที่ตัวเด็ก​ เพื่อค้นหาและรักษาโรคที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง​ แล้วติดตามผลว่าอาการติดเกมของเด็กลดน้อยลงหรือไม่

    คำแนะนำถึงผู้ปกครอง…โดย พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์​

    คุณพ่อ​ คุณแม่​ หรือผู้ปกครองล้วนมีส่วนสำคัญในการเกิดพฤติกรรมการติดเกมของเด็กๆ​ ​พญ.สุนิดา​ แนะนำว่า​ ผู้ปกครองควรยืนหยัดในเรื่องของวินัย​ และการกำหนดเวลา ไม่ยอมแพ้แม้อาจเกิดความอึดอัดระหว่างครอบครัว​ หรือการต่อต้านของเด็กก็ตาม​ ที่สำคัญคือไม่ควรหลงลืมการแสดงความรัก​ กล่าวชื่นชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาต่าง​ๆ​ ในครอบครัวได้​ ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อแนะนำต่อไปนี้

    1. พ่อแม่ควรหาเวลาอยู่ร่วมกัน อยู่ร่วมกับลูกให้มากขึ้น​ ทำกิจกรรมต่างๆ​ ที่จะสามารถพัฒนาทักษะด้านต่างๆ​ กับลูก เช่น​ การออกไปเที่ยว​ ชมสารคดี​ ออกไปวิ่งเล่น​ เล่นเกมที่พัฒนาสมอง
    2. เปลี่ยนจากห้ามเล่นเกม มาเป็นการช่วยลูกเลือกเนื้อหาของเกมที่จะเล่น ให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ และอย่าลืมจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตด้วย
    3. มองการเล่นเกมในด้านบวก​ มองให้เป็นความชอบส่วนบุคคล​ ที่สามารถพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ​ ของเด็กได้​ เช่น​ ด้านภาษา​ การแก้ปัญหา​ การวางแผน​ ทั้งนี้ต้องสามารถจัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสม​ และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
    4. ในกรณีที่เด็กเลือกเล่นเกมที่มีประโยชน์ ช่วยฝึกทักษะการวางแผน ฝึกภาษา ความอดทน และการทำงานเป็นทีม ผู้ปกครอง​สามารถเชื่อมโยงโลกของเกมและโลกของชีวิตจริงเข้าด้วยกัน โดยการนั่งเล่นไปพร้อมๆ​ กับลูก​ และนำปัญหาที่เกิดขึ้นในเกมมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาในโลกของชีวิตจริงได้

    ไม่ว่าลูกจะเป็น​ “โรคติดเกม” ​ หรือแท้จริงแล้วมีโรคจิตเวชซ่อนอยู่ก็ตาม​ การโทษเกม​ไม่ใช่ทางออกทีดีที่สุด​ อย่าปล่อยให้คำว่า​ “เด็กติดเกม” เป็นเหมือนกำแพงที่ซ่อนโรคทางจิตเวชไว้เบื้องหลัง พ่อแม่ควรจับมือลูก​ ช่วยกันทำลายกำแพงนั้น​ ร่วมกับการรักษาจากคุณหมอ​ ซึ่งจะเป็นการปูทางให้เด็กๆ​ ได้ใช้ชีวิตในอนาคตอย่างแข็งแกร่งและมีความสุข

    พญ. สุนิดา โสภณนรินทร์
    แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา
    ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2

Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Loading

Rate this post