กระบวนการยุติธรรมทางเลือกในต่างประเทศ สู่โมเดลการแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย

RC20320 1

กระบวนการยุติธรรมทางเลือกในต่างประเทศ สู่โมเดลการแก้ไขปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย

หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย เผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำที่ส่งผลต่อการบริหารจัดการเรือนจำ ทำให้เรือนจำไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งของผู้ต้องขังจากการเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และภาครัฐที่ต้องเสียทั้งงบประมาณและทรัพยากรบุคคลในการบริหารจัดการเรือนจำ ประสบการณ์จากหลายประเทศได้แสดงให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยมาตรการทางเลือกในการลงโทษแทนการจำคุกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสามารถเป็นแนวทางในการพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบงานราชทัณฑ์ของประเทศไทยต่อไป

กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันที่เน้นการลงโทษด้วยการคุมขังกำลังประสบกับปัญหาหลายประการ ทั้งปัญหาความแออัด และทำให้การจัดการไม่เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การสหประชาชาติ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้ต้องขัง และการความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์ ทั้งในด้านของต้นทุนในบริหารเรือนจำ และต้นทุนค่าเสียโอกาสในการกลับสู่สังคม หรือกลับสู่การทำงานของผู้ต้องขัง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยจำนวนมากที่ชี้ให้เห็นว่า ผู้ต้องขังอยู่ในสังคมได้ยากขึ้นหลังพ้นโทษจากเรือนจำ ซึ่งมีผลทำให้ต้องกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีกครั้ง ทำให้เป็นการเพิ่มจำนวนผู้ต้องขังเป็นวงจรต่อไป

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมแบบดั้งเดิมคือ จำนวนนักโทษในเรือนจำส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติด ซึ่งเมื่อมาอยู่รวมกันในเรือนจำจะทำให้เกิดเป็นเครือข่ายการค้ายาเสพติดที่ขยายวงกว้างมากขึ้น เมื่อพ้นโทษออกไปทำให้มีโอกาสที่จะมีการกระทำผิดซ้ำและขยายวงกว้างมากขึ้น ดังนั้น กระบวนการยุติธรรมจึงต้องมีการนำมาตรการทางเลือกอื่น ๆ นอกจากการจำคุกเข้ามาร่วมดำเนินการแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย

ทางเลือกอื่นในการลงโทษแทนการจำคุก

มีข้อเสนอการลงโทษทางเลือกแทนการจำคุกในเรือนจำที่สามารถนำมาใช้ได้ในขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ดังนี้

1) ขั้นตอนก่อนการพิจารณาของศาล (Pre-trial)

ในรูปของการเบี่ยงเบนคดีจากการฟ้องคดีต่อศาล ได้แก่ การปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไข การลงโทษด้วยวาจา การเจรจาโดยอนุญาโตตุลาการ การให้ชดใช้ความเสียหายแก่เหยื่อ การบริการทางสังคม การเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างผู้เสียหายและผู้กระทำผิด การประชุมกลุ่มครอบครัว หรือการใช้กระบวนการสมานฉันท์อื่น ๆ

สำหรับวิธีการทางเลือกแทนการจำคุกในขั้นตอนก่อนการพิจารณาพิพากษา ซึ่งเป็นไปตามกรอบและกฎของโตเกียว (Tokyo Rules) และ International Covenant on Civil and Political Rights (ICCPR) ประกอบไปด้วย การปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยและมีวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ การให้รายงานตัวตามที่ศาลกำหนด การกำหนดไม่ให้ขัดขวางกระบวนการยุติธรรมหรือเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมบางอย่าง หรือการออกจากสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง การห้ามไปในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง หรือการไปพบกับคนใดคนหนึ่ง และการให้พักในสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง รวมถึงการรายงานตัวทุกวันต่อศาลหรือตำรวจหรือเจ้าหน้าที่อื่น การยึดหนังสือเดินทางหรือเอกสารส่วนตัว การอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของหน่วยงานตามที่ศาลกำหนด การยอมรับการการติดตามด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ และการให้สัญญาชดใช้ทางการเงินหรือทรัพย์ เพื่อรับประกันการมารายงานตัว

2) ขั้นตอนของการพิพากษาลงโทษ (Sentencing)

วิธีการทางเลือกในการลงโทษผู้กระทำความผิดโดยศาลเป็นการลงโทษตามกรอบของการลงโทษแบบไม่มีการควบคุม (Non-custodial measures) โดยวิธีการสำคัญที่ศาลสามารถนำมาลงโทษได้ ประกอบด้วย การลงโทษด้วยวาจา เช่น การดุด่า ว่ากล่าว ตักเตือน การยกฟ้องคดีแบบมีเงื่อนไข การลงโทษทางสถานะ การลงโทษทางเศรษฐกิจและการเงิน เช่น การปรับแทนการจำคุก การยึดอายัดทรัพย์ การให้ชดใช้แก่ผู้เสียหาย การงดลงโทษชั่วคราว การภาคทัณฑ์ การบริการสังคม การฝึกอบรม การกำหนดให้อยู่ในบ้าน และวิธีการอื่น ๆ ที่เป็นการบำบัดนอกเรือนจำ รวมถึงวิธีการหลายอย่างรวมกัน

3) ขั้นตอนการปล่อยตัวจากเรือนจำ (Early release of sentenced prisoners)

สำหรับวิธีการปล่อยตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำเร็วขึ้น เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ได้ในการลดปัญหาจำนวนผู้ต้องขังล้นเรือนจำ โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ต้องขังที่ได้รับผลกระทบจากการลงโทษด้วยการจำคุก ซึ่งประกอบด้วย ผู้ต้องขังที่เป็นเด็ก ผู้ติดยาเสพติด ผู้บกพร่องทางจิต และผู้หญิง โดยวิธีการที่สามารถนำมาใช้ ประกอบด้วย การให้ลาพัก การลงโทษ การกลับบ้านชั่วคราวก่อนพ้นโทษ การปล่อยออกไปทำงานหรือศึกษา การคุมประพฤติ/ปล่อยตัวแบบมีเงื่อนไข การยกเลิกโทษ/การลดโทษ และการอภัยโทษ

สำหรับกลุ่มผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของผู้ต้องขังในเรือนจำหลายประเทศ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่ไม่ใช่ตัวการสำคัญในคดียาเสพติด และมักเป็นผู้เสพยาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น วิธีการทางเลือกจึงควรนำมาใช้กับผู้ต้องขังที่กระทำความผิดเล็กน้อยในคดียาเสพติด โดยวิธีการที่ใช้ประกอบด้วย การลดทอนความเป็นอาชญากรรม (Decriminalization) เป็นการทำให้การกระทำบางอย่างเกี่ยวกับยาเสพติดไม่ผิดกฎหมาย เช่น การครอบครองยาเสพติดจำนวนเล็กน้อย เป็นต้น และการเบี่ยงเบนผู้กระทำผิดออกจากกระบวนการยุติธรรมอาญาทั่วไป เช่น การบำบัดผู้ติดยาเสพติด แทนการฟ้องคดีอาญาต่อศาล การสนับสนุนการจัดตั้ง
ศาลยาเสพติด เพื่อความมีประสิทธิภาพในการจัดการแก้ไขและบำบัดผู้ติดยาเสพติด เป็นต้น

 

ยุติธรรมทางเลือกของสกอตแลนด์: การบำบัดฟื้นฟูและการชดใช้สังคม

รัฐบาลของสกอตแลนด์ได้ให้ความสำคัญกับการใช้วิธีการทางเลือกในการลงโทษเพื่อการลดอัตราการกระทำผิดซ้ำและการฟื้นฟูผู้กระทำผิด แทนการลงโทษจำคุกในเรือนจำ โดยมีงานวิจัยทางวิชาการเป็นกรอบแนวทางในการนำวิธีการทางเลือกในการลงโทษมาใช้แทน

1) ขั้นก่อนการฟ้องร้องคดี

มีโครงการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของตำรวจสกอตแลนด์ เพื่อไม่ให้กระทำความผิดซ้ำอีก โดยให้หน่วยงานทางสังคมเข้าไปดูแลกลุ่มคนเหล่านี้ที่บ้านในด้านสุขภาพ การเลิกแอลกอฮอล์ การจัดการที่พัก การศึกษา และการฝึกอบรมที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังมีโครงการของตำรวจร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการคัดกรองผู้กระทาผิดที่เป็นอันตรายต่อชีวิตไม่ให้ต้องถูกควบคุมที่สถานีตำรวจ

2) ขั้นการลงโทษ

มีมาตรการให้มีการชดใช้แก่สังคม (Community Payback Orders) เช่น การสั่งให้ทำงาน เพื่อสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทน การสั่งให้คุมประพฤติเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูการติดยา การสั่งให้เข้าร่วมการฝึกอบรม/ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การจ่ายค่าเสียหายแก่เหยื่ออาชญากรรม การอาศัยอยู่ในที่พักตามคำสั่ง หรือการห้ามไปสถานที่ใดสถานที่หนึ่งในช่วงเวลาที่กำหนด เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามกรอบกฎหมาย Criminal Justice and Licensing (Scotland) Act 2010 ซึ่งเป็นมาตรการที่ถูกนำมาใช้สำหรับผู้ที่มีโทษจำคุกน้อยกว่า 3 เดือน ในความผิดลหุโทษ และจะมีการประเมินพฤติกรรมโดยศาลเป็นระยะ สำหรับการบริการสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทน อาจจะกำหนดให้ทำงานบริการสังคมให้ครบ 100 ชั่วโมง ภายในระยะเวลา 3 เดือน โดยจะใช้กับผู้ที่กระทำผิดที่อายุเกิน 16 ปี เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการเฉพาะสำหรับผู้ที่กระทำความผิดในข้อหากระทำความรุนแรงในครอบครัว (Caledonian System)

 

ยุติธรรมทางเลือกของฝรั่งเศส: การให้โอกาส และเน้นการกลับคืนสู่สังคม

ฝรั่งเศสนำวิธีการลงโทษทางเลือกแทนการลงโทษจำคุกใน 3 ขั้นตอน คือ

1) ขั้นก่อนการตัดสินคดี

ประกอบด้วยการต่อรองสารภาพ ทางเลือกในการฟ้องคดี และทางเลือกในการไต่สวนคดี โดยวิธีการทางเลือกเหล่านี้ มีบัญญัติในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้เป็นอำนาจของอัยการในการพิจารณาใช้วิธีการทางเลือกที่เหมาะสม วิธีการทางเลือกในการเลี่ยงการฟ้องคดีคือ การไกล่เกลี่ยทางอาญา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความเสียหายได้รับการชดใช้เยียวยา จบปัญหาความวุ่นวายทางสังคมที่เกิดจากอาชญากรรม และให้มอบโอกาสต่อผู้กระทำผิดได้กลับตัวและอยู่ในสังคมได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ยังมีวิธีการเลี่ยงการฟ้องในคดีอาญาที่มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี เมื่อผู้กระทำผิดยอมรับสารภาพอัยการสามารถเลือกกำหนดโทษจาก 19 รายการของการลงโทษ เช่น จ่ายค่าปรับ ยึดใบขับขี่ 6 เดือน ทำงานบริการสังคม 60 ชั่วโมง เข้าฝึกอบรม สั่งควบคุม/กักบริเวณ 6 เดือน เป็นต้น วิธีการทางเลือกในการเลี่ยงการไต่สวนนี้ใช้สำหรับกรณีที่เป็นคดีไม่มีเจตนาในการทำร้ายร่างกายหรือทำให้เสียชีวิต

2) ขั้นตอนการตัดสินโทษ

ประกอบด้วยการลงโทษด้วยชุมชน โทษปรับ การจ่ายค่าปรับแทนการจำคุก การรอลงอาญาและคุมประพฤติไม่เกิน 3 ปี การทำงานบริการสังคม ซึ่งมีการทำงานระหว่าง 20 – 280 ชั่วโมง การบริการสังคมร่วมกับการรอลงอาญาหรือการคุมประพฤติ นอกจากนี้ ยังมีการลงโทษเสริม เช่น การจำกัดเสรีภาพ/สิทธิบางอย่าง การยึดใบขับขี่ การจำกัดการใช้พาหนะบางประเภท การห้ามพกพาอาวุธ การยึดอาวุธ เป็นต้น การให้ชดใช้ค่าเสียหายหรือซ่อมแซมสิ่งที่เสียหาย การให้เข้าอบรมหรือบำบัดฟื้นฟู เป็นต้น

3) ขั้นตอนหลังการลงโทษ

ประกอบด้วยการปล่อยตัวในรูปแบบต่าง ๆ หรือการลดโทษ เช่น การปล่อยตัวก่อนเข้าเรือนจำ ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีการจ่ายค่าปรับแทนการจำคุก การรอลงโทษ การให้บริการสังคมแทนการจำคุก นอกจากนี้ ยังมีการปล่อยตัวก่อนครบกำหนด ซึ่งมักจะมีการนำอุปกรณ์ติดตามมาใช้ในการตรวจสอบและควบคุมผู้ถูกปล่อยตัว การปล่อยตัวให้อยู่ในการดูแลของชุมชน และการปล่อยแบบกึ่งเสรีภาพ

 

ข้อเสนอมาตรการทางเลือกแทนการจำคุกของประเทศไทย     

ประเทศไทยเองก็อีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหานักโทษล้นคุกและปัญหาการกระทำผิดซ้ำจำนวนมาก โดยซึ่งกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันของประเทศไทยยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม ทางโครงการวิจัย “การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบงานราชทัณฑ์ไทยเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย” สนับสนุนโดยสกสว. จึงได้ทำการศึกษากระบวนการยุติธรรมทางเลือกในหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงสกอตแลนด์และฝรั่งเศสที่กล่าวข้างต้น พร้อมทั้งเปรียบเทียบและจำทำข้อเสนอของประเทศไทยเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีข้อเสนอที่สำคัญดังนี้

1) การกำหนดให้การกระทำผิดบางประเภทไม่เป็นความผิดทางอาญา

ได้แก่ การกระทำความผิดที่กระทำต่อตนเอง ไม่ไปกระทบสิทธิของบุคคลอื่นโดยตรง เช่น การทำแท้ง การขายบริการ เสพยาเสพติด เป็นต้น โดยไม่ต้องนำผู้ที่กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทน

2) การกำหนดลำดับชั้นของคดี

เพื่อให้สามารถจัดการกับการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง เช่น ความผิดลหุโทษ อาจจะสามารถทำให้สิ้นสุดในชั้นตำรวจ โดยการเปรียบเทียบปรับ หรือไกล่เกลี่ย หรือคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี อาจจะให้พิจารณาในชั้นอัยการ

3) การต่อรองคำรับสารภาพ

เป็นกระบวนการที่ต้องการให้ผู้ต้องหารับสารภาพ โดยมีข้อแลกเปลี่ยนกับการได้รับการลดโทษ

กล่าวได้ว่า ปัญหานักโทษล้นคุกและปัญหาการกระทำผิดซ้ำ เป็นผลมาจากการกำหนดให้การกระทำผิดบางประเภทที่เป็นความผิดทางอาญา ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญาและจบด้วยการลงโทษด้วยการจำคุกในเรือนจำ กับการขาดมาตรฐานในการบำบัดฟื้นฟูต่อตัวผู้กระทำผิด จึงควรถูกแก้ไขด้วยมาตรการสำคัญและข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งจากการมีใช้ในต่างประเทศ และการนำมาใช้ในประเทศไทยเพื่อลดจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำ ซึ่งเป็นการลดทอนความเป็นอาชญากรรม และเป็นมาตรการทางเลือกแทนการรับโทษในเรือนจำของกระบวนการยุติธรรมที่เปลี่ยนแปลงไป

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบงานราชทัณฑ์ไทยเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซีย

คณะผู้วิจัย : ร.ศ. พ.ต.ท. ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล และคณะ
สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 

Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Loading

Rate this post