4 หลักการหลัก ในการประกอบสูตรอาหารสัตว์

4 หลักการหลัก ในการประกอบสูตรอาหารสัตว์


แชร์ให้เพื่อน :

4 หลักการหลัก ในการประกอบสูตรอาหารสัตว์

1. รู้ถึงปัจจัยเบื้องต้นที่ควรทราบ         

ในการประกอบสูตรอาหารเพื่อหาสัดส่วนของวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่าง ๆ ที่จะนำมาผสมเข้าด้วยกัน สิ่งที่ควรทราบ คือ

 

1.1 ความต้องการสารอาหารของสัตว์แต่ละชนิด (nutrient requirement) ในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต หรือแต่ละประเภทของผลผลิต ซึ่งหาได้ จากตาราง มาตรฐานความต้องการ 

1.2 ส่วนประกอบทางสารอาหาร (nutrient composition) ของวัตถุดิบชนิดต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้ประกอบสูตรอาหาร ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการหรือจากเอกสารอ้างอิง

1.3 รู้จักลักษณะทางกายภาพและทางชีวภาพของวัตถุดิบ ที่จะนำมา ใช้ในการประกอบสูตรอาหารเพราะลักษณะดังกล่าวจะช่วยบ่งบอกให้ทราบถึงปริมาณที่จำกัด
ในการใช้ เช่น วัตถุดิบที่มีความฟ่ามมาก สัตว์กระเพาะเดี่ยวไม่ควรใช้มากจนเกินไป วัตถุดิบที่มีสารพิษ ควรใช้ในปริมาณที่ไม่มีผลกระทบต่อสัตว์ หรือวัตถุดิบบางชนิดอาจใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ หรือย่อยยากไม่ควรใช้มากเกินไป เป็นต้น

1.4 ปริมาณของวัตถุดิบที่ควรใช้ในสูตรอาหาร

 

2. ราคาของวัตถุดิบที่จะใช้และสิ่งที่จะใช้ทดแทนกันได้            

ราคาของวัตถุดิบมีความสำคัญมากต่อการประกอบสูตรอาหาร ควรเลือกวัตถุดิบที่มีราคาถูกและคุณภาพดีมาใช้ เพื่อลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ แต่ถ้าวัตถุดิบนั้น ๆ ราคาแพงขึ้นก็ควรมีวัตถุดิบชนิดอื่น ๆ ให้เลือกใช้ทดแทนกันหรืออยู่ในจุดคุ้มทุน
3. แบบฟอร์มการประกอบสูตรอาหาร          

ในการคำนวณควรมีแบบฟอร์มทำการ (worksheet) สำหรับประกอบสูตรอาหาร เพื่อความสะดวกในการเลือกใช้วัตถุดิบที่มีส่วนประกอบสารอาหารหลายชนิด การเติมหรือลดจำนวนวัตถุดิบที่ต้องการ และการแสดงปริมาณสารอาหารทั้งหมดในสูตรอาหาร

สูตรจาก https://www.youtube.com/watch?v=oxc7YMxua3w&feature=youtu.be

4. ขั้นตอนการประกอบสูตรอาหารสัตว์  

มีขั้นตอนดังนี้

4.1 กำหนดจำนวนอาหารที่ต้องการคำนวณ ผู้คำนวณเลือกจำนวนอาหารเป็นปริมาณเท่าใดก็ได้ ต้องตัดสินใจก่อนเริ่มลงมือคำนวณ บางคนอาจคิดเป็นต่อ 1000 กิโลกรัม หรือเป็นตัน แต่ที่นิยมมักคำนวณเป็นจำนวนอาหารที่ต้องการใช้ 100 กิโลกรัม เพราะสะดวก ในการคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ และสอดคล้องกับตารางแสดงความต้องการสารอาหารของสัตว์

4.2 เขียนความต้องการสารอาหารที่สัตว์ต้องการลงในแบบฟอร์ม ตามชนิด ขนาด หรืออายุของสัตว์ที่ต้องการคำนวณ เพื่อให้สัตว์ได้รับอาหารตามที่ร่างกาย  ต้องการตามระยะเวลานั้น เพื่อเป็นการประหยัดและถูกหลักเศรษฐกิจ โดยไม่ให้อาหารเกินความต้องการ การเลือกปริมาณความต้องการสารอาหารสำคัญมาก เพราะต้องเลือกให้เหมาะสมกับอายุและสภาพการเลี้ยง

4.3 เลือกชนิดวัตถุดิบใส่ลงไปในช่องวัตถุดิบให้ครบทุกประเภท ซึ่งได้แก่ วัตถุดิบ ที่เป็นแหล่งพลังงาน คือ อาหารคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แหล่งโปรตีน แหล่งแร่ธาตุที่ใช้ เป็นจำนวนมาก แร่ธาตุปลีกย่อยและวิตามิน รวมทั้งสารเสริมอาหาร ซึ่งมักเติมลงในอาหารในรูปของอาหารผสมล่วงหน้าหรือพรีมิกซ์

4.4 ตัดสินใจว่าจะใช้วัตถุดิบที่เลือกไว้เป็นปริมาณเท่าใดในสูตรอาหาร  โดยเติมลงในช่องว่างจำนวนวัตถุดิบและให้ผลรวมของวัตถุดิบทุกชนิดที่เลือกเท่ากับปริมาณที่กำหนดไว้ ตั้งแต่ต้น เช่น เท่ากับ 100 กิโลกรัม

4.5 คำนวณปริมาณสารอาหารชนิดต่าง ๆ ที่ได้จากวัตถุดิบแต่ละชนิด ตามจำนวน ที่เลือกไว้ แล้วหาผลรวมของสารอาหารทั้งหมดออกมา

4.6 การปรับสูตรอาหาร หลังจากคำนวณปริมาณสารอาหารแล้ว ถ้าจำนวนสารอาหาร ยังไม่ตรงตามความต้องการสารอาหารของสัตว์ที่ระบุก็ทำการปรับหรือแก้ไขให้ถูกต้อง โดยเริ่มจากจำนวนของโปรตีน พลังงาน แคลเซียม ฟอสฟอรัส ไขมัน เยื่อใยและความชื้นของสูตรอาหารตามลำดับ นอกจากนี้ อาจตรวจสอบความสมดุลของสารอาหารบางชนิด รวมทั้งกรดอะมิโนที่จำเป็น เช่น เมทไทโอนีน ไลซีน และทริปโตเฟน วิตามินและแร่ธาตุปลีกย่อย ซึ่งถ้าไม่พออาจใส่ เพิ่มได้ในภายหลังในรูปพรีมิกซ์

สรุป     

การประกอบสูตรอาหารสัตว์เป็นการนำเอาวัตถุดิบอาหารสัตว์ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีสารอาหาร เช่น โปรตีน พลังงาน แคลเซียม ฟอสฟอรัส มารวมกันตามสัดส่วนที่ผสมรวมกันแล้วได้ สารอาหารเพียงพอตามมาตรฐานที่กำหนดเพื่อการเจริญเติบโต การสร้างผลผลิตและการสืบพันธุ์ ตามความต้องการของสัตว์แต่ละชนิด วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่นำมาใช้มีคุณค่าทางสารอาหารและลักษณะทางกายภาพแตกต่างกัน การประกอบสูตรอาหารมีวิธีคำนวณหาสัดส่วนการใช้วัตถุดิบหลายแบบ ตั้งแต่มีวัตถุดิบเพียง 1 – 2 ชนิด ไปจนถึงการใช้วัตถุดิบหลายอย่างสำหรับใช้ประกอบสูตรอาหารที่คำนวณขึ้นเอง หรือดัดแปลงให้เหมาะกับวัตถุดิบที่มีอยู่ การใช้คอมพิวเตอร์ช่วย

ในการคำนวณทำให้สะดวกและรวดเร็ว ในการปรับแต่งสูตรให้เหมาะกับความต้องการของสัตว์ สูตรอาหารนอกจากจะมีสารอาหารครบตามต้องการแล้วยังต้องมีความน่ากินและราคาเหมาะสมด้วย ส่วนการประกอบสูตรสารผสมล่วงหน้าหรือพรีมิกซ์ซึ่งได้แก่ กรดอะมิโนและยาปฏิชีวนะ แร่ธาตุปลีกย่อยและวิตามิน จำเป็นต้องรู้ลักษณะทางกายภาพ ความคงทนต่อการเสื่อมสลาย ความเข้มข้นที่แท้จริงของเนื้อสาร ข้อจำกัดในการใช้ต่าง ๆ อย่างระมัดระวัง

เอกสารอ้างอิง
นงเยาว์ จันทราช. (2546). อาหารและการให้อาหารสัตว์. กรุงเทพมหานคร : คณะเทคโนโลยี การเกษตร  สถาบันราชภัฏจันทรเกษม.

ยุคล ลิ้มแหลมทอง. (2533). การใช้ยาและสารเคมีผสมในอาหารสัตว์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

ศรีสกุล วรจันทรา และรณชัย สิทธิไกรพงษ์. (2539). โภชนะศาสตร์สัตว์. กรุงเทพมหานคร : โอเดียนสโตร์.

David, N. & Course, C. (1993). Spreadsheets for Agriculture. United Kingdom : Longman Group (UK) Limited.

Jurgen, M.H. (1982). Animal Feeding and Nutrition. (5th ed.). Iowa : Kendall/Hunt Publishing Company.

McElhiney, R.R. (1985). Feed Manufacturing Technology III. United States : American Feed Industry Association, Inc.

Perry, T.W. (1975). Feed Formulation. (2nd ed.) Danville, Illinois : The Interstate Printers & Publishers Inc.

Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Loading

Rate this post

Tags: