เช็กให้ชัวร์! ลูกเป็นเด็กติดเกม (Gaming Disorder) หรือมีปัญหาทางจิตเวชแอบซ่อนอยู่
-
พ่อแม่หลายๆ คนมักให้คำนิยามลูกว่า “เด็กติดเกม” เมื่อเห็นลูกใช้เวลามากมายไปกับเกม เกม และเกม จนเริ่มกระทบต่อพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย ปัญหาด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต ขาดความรับผิดชอบ และขาดทักษะการเรียนรู้ด้านอื่นๆ
แต่พ่อแม่รู้ไหมว่า สิ่งที่น่ากลัวมากกว่าโรคติดเกมนั่นก็คือโรคที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของเด็ก! ทำให้เด็กเลือกใช้เกมเพื่อการเยียวยา และเพื่อให้พ่อแม่แยกความแตกต่างระหว่าง Gaming disorder และโรคจิตเวชที่ซ่อนอยู่ นี่คือข้อมูลที่ พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์ จิตแพทย์ เด็กและวัยรุ่น รพ.พญาไท 2 อยากบอกต่อ…
อาการที่บ่งชี้ว่าลูกเป็นเด็กติดเกม (Gaming disorder)
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุอย่างเป็นทางการว่า การติดเกม หรือ Gaming disorder ถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของโรคหรือปัญหาทางสุขภาพตามสถิติระหว่างประเทศ หรือที่เรียกว่า ICD-11 โดยเด็กที่ติดเกมจะมีอาการบ่งชี้ตามหลัก WHO ดังนี้
- หมกมุ่นกับการเล่นเกม โดยขาดการลำดับความสำคัญก่อนหลัง
- เห็นเกมสำคัญกว่าทุกสิ่ง จนเกิดผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ครอบครัว การเรียน ความสัมพันธ์ สังคม อาชีพ เป็นต้น
- เป็นติดต่อกันอย่างน้อย 12 เดือน
ไม่จำเป็นต้องเลิก! แค่ลดพฤติกรรมติดจอ…ก็ลดปัญหาที่เกิดจากการติดเกม
สมาคมกุมารแพทย์ศาสตร์สหรัฐฯ หรือ American Academy of Pediatrics (AAP) มีคำแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ดูสื่อจากจอต่างๆ และเมื่ออายุระหว่าง 2 – 5 ปี สามารถให้เด็กดูได้ตามความเหมาะสม (ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง) โดย พญ. สุนิดา แนะนำว่าไม่ควรเกิน 15 – 30 นาที เพราะเด็กควรมีเวลาได้เรียนรู้ทักษะด้านอื่นๆ บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการติดจอ และ การเกิดผลกระทบจากการเล่นเกม ดังต่อไปนี้
- ปัญหาด้านสุขภาพ เนื่องจากเด็กที่นั่งเล่นเกมเป็นเวลานานมักไม่ได้ออกกำลังกายอาจทำให้เกิดภาวะโรคอ้วนหรือตัวเล็กกว่าปกติเพราะกล้ามเนื้อไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว นอกจากนี้ยังทำให้เสียสายตา มีปัญหาเรื่องกระเพาะอาหาร ส่วนในด้านของสมอง การควบคุมอารมณ์จะต่ำลง การคิดวิเคาระห์ การตัดสินใจในชีวิตจริงอาจไม่กว้างพอ
- ขัดขวางพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว และพัฒนาการของกล้ามเนื้อ เช่น การวิ่งเล่น ปีนป่าย โหนตัว ทรงตัว การกะระยะ และทิศทาง ส่งผลให้เด็กอาจเล่นกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับเพื่อนไม่ได้ และรู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- ปัญหาด้านการเรียน เมื่อเด็กติดเกมจะเริ่มสนใจการเรียนน้อยลง ความรับผิดชอบจะต่ำลงในทุกๆ ด้านเมื่อผลการเรียนไม่ดี จะรู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองน้อยลง และจะเข้าหาเกมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกมตอบสนองจินตนาการและสามารถเป็นผู้ชนะได้
- ปัญหาความรุนแรง ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของเกม หากเป็น เด็กเล็กนั้นสามารถเลียนแบบได้อย่างเต็มที่ และหากเกิดการรวมกลุ่ม อาจพัฒนาเป็นความรุนแรงในวัยรุ่นได้
- ส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว พญ.สุนิดา กล่าวว่า หากเด็กสามารถรับผิดชอบตนเองในด้านอื่นๆ ได้ดี คือใช้เกมเป็นเพียงเครื่องผ่อนคลาย การเล่นเกมนั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว แต่หากผู้ปกครองเริ่มรู้สึกว่าใช้เวลาร่วมกันน้อยลง ควรกลับมาพูดคุยกับเด็ก และจัดสรรเวลาใหม่ และทำกิจกรรมอื่นๆ ทดแทน เช่น ฝึกฝนทักษะดนตรี กีฬา ศิลปะ ร่วมกันมากขึ้น เพื่อลดโอกาสการติดเกมได้
หนูไม่ได้ติดเกม…แต่หนูมีโรคที่ซ่อนอยู่
พญ.สุนิดา กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือ เด็กบางคนมีโรคซ่อนอยู่โดยที่พ่อแม่ไม่รู้ พ่อแม่อาจเข้าใจว่าลูกเป็นเด็กติดเกม แต่ความจริงแล้ว เด็กใช้เกมเป็นเครื่องมือระบายความรู้สึกต่างๆ ออกมา เล่นเกมเพราะไม่อยากยุ่งกับใคร เบี่ยงเบนความคิดแย่ๆ ต่อสิ่งรอบตัว หรือ เล่นเกมเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นกว่าเดิม
โรคที่พบได้บ่อยคือโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งทำให้เด็กมีอาการ กังวล หงุดหงิด ฉุนเฉียว ก้าวร้าว แยกตัว ในบางรายมีภาวะหลงผิด ระแวงกลัว ร่วมด้วย ในกรณีเช่นนี้ “เกม” ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นวิธีที่เด็กใช้เยียวยาโรคที่ซ่อนอยู่ต่างหาก นี่คือสิ่งที่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ
ดังนั้นขั้นตอนการวินิจฉัย แพทย์จึงต้องนำเงื่อนไขเด็กติดเกมออกไปก่อน แล้ววินิจฉัยที่ตัวเด็ก เพื่อค้นหาและรักษาโรคที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง แล้วติดตามผลว่าอาการติดเกมของเด็กลดน้อยลงหรือไม่
คำแนะนำถึงผู้ปกครอง…โดย พญ.สุนิดา โสภณนรินทร์
คุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้ปกครองล้วนมีส่วนสำคัญในการเกิดพฤติกรรมการติดเกมของเด็กๆ พญ.สุนิดา แนะนำว่า ผู้ปกครองควรยืนหยัดในเรื่องของวินัย และการกำหนดเวลา ไม่ยอมแพ้แม้อาจเกิดความอึดอัดระหว่างครอบครัว หรือการต่อต้านของเด็กก็ตาม ที่สำคัญคือไม่ควรหลงลืมการแสดงความรัก กล่าวชื่นชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ดี ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ในครอบครัวได้ ซึ่งสามารถทำได้ตามข้อแนะนำต่อไปนี้
- พ่อแม่ควรหาเวลาอยู่ร่วมกัน อยู่ร่วมกับลูกให้มากขึ้น ทำกิจกรรมต่างๆ ที่จะสามารถพัฒนาทักษะด้านต่างๆ กับลูก เช่น การออกไปเที่ยว ชมสารคดี ออกไปวิ่งเล่น เล่นเกมที่พัฒนาสมอง
- เปลี่ยนจากห้ามเล่นเกม มาเป็นการช่วยลูกเลือกเนื้อหาของเกมที่จะเล่น ให้เหมาะสมกับวัยและพัฒนาการ และอย่าลืมจัดสรรเวลาให้เหมาะสม เพื่อทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตด้วย
- มองการเล่นเกมในด้านบวก มองให้เป็นความชอบส่วนบุคคล ที่สามารถพัฒนาความสามารถด้านต่างๆ ของเด็กได้ เช่น ด้านภาษา การแก้ปัญหา การวางแผน ทั้งนี้ต้องสามารถจัดสรรเวลาได้อย่างเหมาะสม และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
- ในกรณีที่เด็กเลือกเล่นเกมที่มีประโยชน์ ช่วยฝึกทักษะการวางแผน ฝึกภาษา ความอดทน และการทำงานเป็นทีม ผู้ปกครองสามารถเชื่อมโยงโลกของเกมและโลกของชีวิตจริงเข้าด้วยกัน โดยการนั่งเล่นไปพร้อมๆ กับลูก และนำปัญหาที่เกิดขึ้นในเกมมาเป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาในโลกของชีวิตจริงได้
ไม่ว่าลูกจะเป็น “โรคติดเกม” หรือแท้จริงแล้วมีโรคจิตเวชซ่อนอยู่ก็ตาม การโทษเกมไม่ใช่ทางออกทีดีที่สุด อย่าปล่อยให้คำว่า “เด็กติดเกม” เป็นเหมือนกำแพงที่ซ่อนโรคทางจิตเวชไว้เบื้องหลัง พ่อแม่ควรจับมือลูก ช่วยกันทำลายกำแพงนั้น ร่วมกับการรักษาจากคุณหมอ ซึ่งจะเป็นการปูทางให้เด็กๆ ได้ใช้ชีวิตในอนาคตอย่างแข็งแกร่งและมีความสุข
พญ. สุนิดา โสภณนรินทร์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์ประสาทวิทยา
ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท 2