ChatGPT คืออะไร รู้จักวิธีใช้งานและค่าบริการของ AI แชตบอทอัจฉริยะ
ChatGPT พัฒนาโดยบริษัท OpenAI ถือเป็นปัญญาประดิษฐ์อัจฉริยะที่สร้างเสียงฮือฮาให้กับหลายๆ วงการ เนื่องด้วยศักยภาพและความชาญฉลาดของเทคโนโลยีในการแก้ปัญหา ตอบคำถาม หรือแม้กระทั่งเขียนโค้ดเบื้องต้น ซึ่งหลังจากเปิดตัวไม่นาน มีผู้ใช้งานสูงกว่า 50 ล้านคน และคาดว่าจะมีผู้ใช้งานหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้หลายๆ คนเกิดความสงสัยว่า ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์หรือไม่ ในขณะเดียวกัน หลายคนก็อาจจะสงสัยว่า ChatGPT ใช้ยังไง ให้ช่วยต่อยอดในการทำงาน ซึ่งสามารถติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ ChatGPT App ได้ในบทความนี้
ChatGPT คืออะไร
ChatGPT App เปิดตัวช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นระบบ AI ในรูปแบบ Chatbot (แชตบอท) พัฒนาโดย OpenAI บริษัทเทคโนโลยีที่หลายคนคุ้นเคย ซึ่งหลังจากเปิดตัวเพียงไม่นาน ChatGPT App กลับได้รับกระแสตอบรับล้นหลาม และสร้างความฮือฮาในหลายๆ วงการ เนื่องจาก ChatGPT ถูกพัฒนาให้จดจำข้อความจากอินเทอร์เน็ต สำหรับตอบคำถามและแก้ปัญหาให้กับผู้ใช้งานได้ทุกข้อสงสัย ภายใต้การตอบกลับที่เป็นธรรมชาติ คล้ายกับมนุษย์ เรียกได้ว่าสามารถทำงานได้อย่างชาญฉลาด
ChatGPT ย่อมาจากคำว่า “Chat” และ “Generative Pre-training Transformer” หรือก็คือ โมเดลภาษาที่ถูกเขียนขึ้น เพื่อให้สามารถใช้งานและตอบโจทย์กับทุกคำถามหรือข้อสงสัยได้อย่างครอบคลุม เช่น การให้ข้อมูล สูตรอาหาร แก้โจทย์คณิตศาสตร์ เขียนโค้ด เขียนโปรแกรมเบื้องต้น แต่งเพลง จัดทริป การเล่นมุกตลก
ChatGPT วิธีใช้งานง่ายๆ หนึ่งในตัวช่วยในการทำงาน
วิธีใช้งาน ChatGPT Login ได้ง่ายๆ ผ่าน ChatGPT Website ดังนี้
1. Login บนเว็บไซต์ https://chat.openai.com/auth/login สำหรับผู้ใช้ใหม่ให้ Sign up หรือสร้างบัญชีใหม่ก่อน
2. การสร้างบัญชีใหม่สามารถทำได้ 3 ช่องทาง
กรณีสร้างบัญชีผ่านช่องทางอีเมล สามารถทำได้ดังนี้
- กรอกอีเมลสำหรับใช้งาน ตั้งค่ารหัสผ่าน และกดยืนยันตัวตนผ่านอีเมล
- กรอกชื่อ-สกุล และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อกรอกรหัส OTP จากนั้นจะสามารถใช้งานได้ทันที
กรณีสร้างบัญชีผ่านช่องทาง Google สามารถทำได้ดังนี้
- กดเลือกเชื่อมต่อกับบัญชี Google Account ที่มีอยู่
- กรอกชื่อ-สกุล และเบอร์โทรศัพท์ เพื่อกรอกรหัส OTP จากนั้นจะสามารถใช้งานได้ทันที
กรณีสร้างบัญชีผ่านช่องทาง Continue with Microsoft Account สามารถทำได้ดังนี้
- กดเลือกเชื่อมต่อกับบัญชี Microsoft Account ที่มีอยู่ โดยสามารถทำตามขั้นตอนเช่นเดียวกับช่องทางอื่นๆ
3. หลังจากสร้างบัญชี ChatGPT เรียบร้อย ระบบจะแสดงรายละเอียดการใช้งานในเบื้องต้น จากนั้นจะสามารถเลือกพิมพ์ถามข้อสงสัยหรือคำถาม ที่ต้องการคำตอบในช่องว่างได้ทันที
ChatGPT ภาษาไทยใช้งานได้หรือไม่?
แม้ว่าเมนูหรือคำสั่งใน ChatGPT จะเป็นภาษาอังกฤษเพียงอย่างเดียว แต่ในการถามหรือตอบ จะยังคงสามารถใช้ภาษาไทยได้ เพียงแต่คำตอบภาษาไทยอาจจะมีข้อผิดพลาดและสร้างความสับสน เนื่องจากการเรียบเรียงประโยค การใช้คำ รวมถึงการแปลภาษายังไม่สมบูรณ์
5 ข้อควรรู้ก่อนใช้ ChatGPT แชตบอท
1. ChatGPT เป็นปัญญาประดิษฐ์ในด้านแชตบอท ดังนั้น จึงสามารถทำงานได้โดยการพิมพ์พูดคุยหรือตอบคำถาม ไม่สามารถส่งไฟล์เสียง รูปภาพ หรือวิดีโอได้
2. ChatGPT ไม่สามารถตอบข้อสงสัยหรือให้ข้อมูลที่ใหม่กว่าปี 2021 รวมถึงข้อมูลแบบเรียลไทม์
3. ระบบการแปลภาษาของ ChatGPT ยังมีความคลาดเคลื่อน ทั้งในด้านของการเรียบเรียง รูปประโยค การใช้คำเฉพาะ
4. ChatGPT จะทำการแยกห้องแชตตามหัวข้อให้อัตโนมัติ บริเวณเมนูด้านบนฝั่งซ้าย ซึ่งหากต้องการพูดคุยหรือสอบถามหัวข้อใหม่ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยการกด “New chat”
5. ChatGPT จะไม่สามารถตอบข้อมูลในเชิงปัจเจกบุคคล แต่จะเน้นให้ข้อมูลและให้ผู้ถามเป็นฝ่ายตัดสินใจเอง นอกจากนี้ยังไม่นำเสนอข้อมูลที่สร้างความแตกแยกอีกด้วย
ChatGPT ค่าบริการเดือนละเท่าไร?
ปัจจุบัน ChatGPT เปิดให้บริการ 2 รูปแบบ ดังนี้
- บัญชีแบบฟรี มาพร้อมกับข้อจำกัดคือ ไม่สามารถใช้งานได้ขณะมีผู้ใช้งานจำนวนมาก รวมถึงระบบยังไม่เสถียรมากนัก
- บัญชี ChatGPT Plus คิดค่าบริการเดือนละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราวๆ 700 บาท ข้อดี คือ สามารถใช้งานได้ทุกช่วงเวลา แม้ว่าจะเป็นช่วงที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทำงานได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงสามารถให้คำตอบได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ChatGPT เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่มีความอัจฉริยะ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการพัฒนาให้ระบบหรือการทำงานสมบูรณ์ ตลอดจนอาจจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ เพียงแค่มนุษย์ทำความเข้าใจ เรียนรู้ ตลอดจนปรับตัว เลือกใช้เทคโนโลยีเหล่านี้อย่างถูกวิธี ก็จะสามารถต่อยอดไอเดีย สร้างมูลค่าให้กับงาน หรือเพิ่มความสะดวกสบายให้ตนเองได้มากยิ่งขึ้น
reference : https://www.thairath.co.th/lifestyle/tech/2640561
ได้ความรู้มากเลยค่ะ รออ่านบทความดีๆ จากอาจารย์อีกนะคะ สู้ๆ ค่ะ