ผลของเทคนิคการผลิตรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องที่แตกต่างกันต่อการเรียนรู้ของเกษตรกร
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการเรียนรู้ด้านพุทธิพิสัยของเกษตรกร จากการชมรายการวีดิทัศน์ ที่ใช้มุมกล้องที่แตกต่างกัน 3 แบบ คือ (1) รายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบออบเจกทีฟ (Objective camera angle) (2) รายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบซับเจกทีฟ (Subjective camera angle) (3) รายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบพอยต์ออฟวิว (Point view camera angle) การวิจัยใช้การทดลองแบบเปรียบเทียบ 2 กลุ่มขึ้นไป มีการวัดผลการทดลองก่อนและหลัง โดยมีกลุ่มตัวอย่างการวิจัยคือ เกษตรกรในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน จำนวนทั้งหมด 120 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 40 คน กลุ่มแรกเรียนรู้จากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบออบเจกทีฟ กลุ่มที่สองเรียนรู้จากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบซับเจกทีฟ กลุ่มที่สามเรียนรู้จากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบพอยต์ออฟวิว เนื้อหาที่ใช้สร้างบทรายการวีดิทัศน์คือเรื่อง “การเสียบยอดมะม่วงพันธุ์ดี” รวบรวมโดยใช้แบบสอบถามและแบบทดสอบ จากนั้นนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน Chi-square, t-test, F-test และ Least Significant Difference (LSD) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1) ผลการเรียนรู้เชิงพุทธิพิสัยหลังชมรายการวีดิทัศน์ของเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่ม สูงกว่าก่อนชมอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ โดยผลการเรียนรู้เชิงพุทธิพิสัยหลังชมรายการวีดิทัศน์ของเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่ม แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยพบว่า เกษตรกรที่เรียนรู้จากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบพอยต์ออฟวิว มีผลการเรียนรู้สูงสุด รองลงมาคือรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบซับเจกทีฟ ขณะที่รายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบออบเจกทีฟ มีผลการเรียนรู้ต่ำสุด 2) เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยแต่ละคู่ ผลปรากฏว่า คะแนนเฉลี่ยของเกษตรกรที่เรียนจากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบออบเจกทีฟ กับรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบซับเจกทีฟ ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ, คะแนนเฉลี่ยของเกษตรกรที่เรียนจากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบซับเจกทีฟ กับรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบพอยต์ออฟวิว ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติ และคะแนนเฉลี่ยของเกษตรกรที่เรียนจากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบพอยต์ออฟวิว สูงกว่าเกษตรกรที่เรียนจากรายการวีดิทัศน์ที่ใช้มุมกล้องแบบออบเจกทีฟ มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05
ที่มา : https://li01.tci-thaijo.org/index.php/japmju/issue/view/17615
ดีมากคะ