คณะจิตวิทยา เรียนอะไร มีสาขาอะไรบ้าง ไปรู้จักคณะนี้พร้อมกัน!

“คณะจิตวิทยา” เป็นอีกหนึ่งคณะที่น้อง ๆ ให้ความสนใจ แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่รู้จักคณะนี้เท่าไรว่าคืออะไร จิตวิทยา เรียนเกี่ยวกับอะไร มีสาขาอะไร หรือคณะจิตวิทยา มีที่ไหนบ้าง วันนี้พี่ก็เลยจะขอมาเคลียร์ทุกข้อสงสัยให้กับทุกคนเอง !! 

แถมท้ายบทความยังมีบทสัมภาษณ์สุดพิเศษจากรุ่นพี่คณะจิตวิทยา จุฬาฯ ที่จะมาแชร์ประสบการณ์เตรียมตัวสอบด้วย > < ใครไม่อยากพลาดรีบเลื่อนไปดูเรื่องราวที่น่าสนใจของคณะจิตวิทยากันเลย !!

คณะจิตวิทยา คือ ?

คณะจิตวิทยา (Psychology) คือ คณะที่เรียนเกี่ยวกับความคิด อารมณ์ จิตใจ และพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์โดยใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อหาเหตุผลของพฤติกรรมหรือความรู้สึกนั้น ๆ ว่าเกิดจากอะไร และสามารถแก้ไขได้อย่างไร

คณะจิตวิทยา เรียนกี่ปี เรียนอะไรบ้าง ?

คณะจิตวิทยาจะเรียนทั้งหมด 4 ปี ซึ่งวันนี้พี่ก็เอาตัวอย่างเนื้อหาที่เรียนในแต่ละปีมาให้ดูกันเป็นแนวทาง ถ้าอยากรู้แล้วว่ามีอะไรบ้างก็ไปดูกันเล้ย   

คณะจิตวิทยา ปี 1 จะเริ่มเรียนจากวิชาพื้นฐานทั่วไปก่อน เช่น ภาษาอังกฤษ และวิชาจิตวิทยาพื้นฐาน เป็นต้น

คณะจิตวิทยา ปี 2 จะได้เรียนวิชาของคณะหรือสาขามากขึ้น เช่น จิตวิทยาการปรึกษา หรือจิตวิทยาสังคม แล้วแต่ว่าจะเลือกเรียนสาขาอะไร

คณะจิตวิทยา ปี 3 น้อง ๆ ก็จะได้เรียนเนื้อหาที่ลึกขึ้นกว่าตอน ปี 2 นอกจากนี้ในชั้น ปี 3 ยังสามารถเลือกเรียนวิชาอื่น ๆ ของคณะจิตวิทยาที่สนใจ หรืออยากจะเน้นเป็นพิเศษเพื่อศึกษาเพิ่มเติมได้อีกด้วย

คณะจิตวิทยา ปีที่ 4 บางมหาลัยฯ อาจให้ฝึกงานตั้งแต่ตอนปี 3 แต่บางที่ก็อาจจะให้ฝึกงานในปีสุดท้ายเลย และนอกจากนี้ก็ยังจะต้องทำการศึกษาค้นคว้างานวิจัย (Thesis) เกี่ยวกับจิตวิทยาที่น้อง ๆ สนใจก่อนเรียนจบด้วย

22c2c6 57e7338d85c846dd982ce0a93ff3cd46~mv2

ที่มา : https://www.istrong.co/single-post/psychologist

คณะจิตวิทยา มีสาขาอะไรบ้าง ?

จิตวิทยาก็เหมือนกับคณะอื่น ๆ ที่จะมีสาขาแยกย่อยออกไป มีทั้งส่วนที่คล้ายและส่วนที่แตกต่างกัน โดยตัวอย่างของสาขาที่น้อง ๆ จะได้เห็นด้านล่างนี้ เป็นแค่ตัวอย่างส่วนหนึ่งเท่านั้นน้า

จิตวิทยาทั่วไป

สาขาจิตวิทยาทั่วไป เป็นสาขาที่จะเรียนเกี่ยวกับพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เพื่อหาที่มาที่ไปและการแก้ไข เนื้อหาที่จะได้เรียนก็มีความหลากหลายมาก เช่น จิตวิทยาทดลอง จิตวิทยาสังคม แต่จะเป็นการเรียนแบบกว้าง ๆ ไม่ได้เจาะจงสาขาใดสาขาหนึ่งเป็นพิเศษ

จิตวิทยาการศึกษา

สาขาจิตวิทยาเพื่อการศึกษา จะเรียนเกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนการสอนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการศึกษา และการให้คำปรึกษาแนะแนวในโรงเรียน เน้นพัฒนาเด็ก ๆ โดยใช้หลักทางจิตวิทยา

จิตวิทยาคลินิก

สาขาจิตวิทยาคลินิก จะเรียนเกี่ยวกับจิตบำบัด การตรวจบุคลิกภาพ เพื่อนำความรู้ทางจิตวิทยามาใช้ในการวินิจฉัยอาการทางจิต เพื่อช่วยแก้ไขหรือให้คำปรึกษา

จิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ

สาขาจิตวิทยาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่จะเน้นเกี่ยวกับจิตวิทยาในที่ทำงานทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติต่องานและแรงจูงใจในการทำงาน ความสัมพันธ์ของคนในองค์กร จิตวิทยาการบริหารและการเป็นผู้นำ รวมถึงการวิเคราะห์เพื่อพัฒนาองค์กร เป็นต้น

จิตวิทยาการแนะแนว 

สาขาจิตวิทยาการแนะแนว บางสถาบันจะรวมไปกับสาขาจิตวิทยาการศึกษาเพราะการเรียนในสาขานี้ก็จะได้เรียนเกี่ยวกับการแนะแนวและให้คำปรึกษาในโรงเรียนเช่นกัน แต่นอกเหนือจากโรงเรียนแล้วก็สามารถเลือกเรียนแนะแนวในด้านอื่นได้อีก เช่น การให้คำปรึกษาอาชีพ หรือการให้คำปรึกษาครอบครัว

จิตวิทยาชุมชน  

สาขาจิตวิทยาชุมชน เป็นสาขาที่เรียนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ความรุนแรงในครอบครัวและสังคม แล้วใช้หลักจิตวิทยาไปแก้ไขหรือปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชน

จิตวิทยาพัฒนาการ 

สาขาจิตวิทยาพัฒนาการจะศึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการทางด้านจิตใจของคนเราทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็ก วัยรุ่นจนถึงผู้ใหญ่ว่าส่งผลกระทบยังไงแล้วหาทางแก้ไขหรือส่งเสริมให้ดียิ่งขึ้น

คณะจิตวิทยา ต้องเรียนสายอะไร ?

สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้าคณะจิตวิทยา ไม่ว่าทุกคนจะจบมาจากสายวิทย์คณิตหรือสายศิลป์ ก็สามารถยื่นสมัครคณะนี้ได้ทั้งหมด แต่อย่าลืมดูเกณฑ์การรับสมัครและคุณสมบัติของแต่ละที่ด้วยน้า

คณะจิตวิทยา จบมาทํางานอะไร ?

คณะจิตวิทยา หรือสาขาที่เรียนเกี่ยวกับจิตวิทยา สามารถทำอะไรได้หลายอย่างมาก แล้วแต่ว่าเราจะเลือกเรียนสาขาไหน พี่ยกตัวอย่างมาให้แล้ว ตามนี้เลยยยย

  • นักจิตวิทยาคลินิก
  • นักจิตวิทยาพัฒนาการ
  • นักจิตวิทยาชุมชน
  • นักจิตวิทยาเด็ก
  • นักจิตวิทยาด้านการปรึกษา
  • พนักงานฝ่ายทรัพยากรมนุษย์
  • ครู/อาจารย์แนะแนว
  • เจ้าหน้าที่มูลนิธิ
  • นักพัฒนาสังคม

แต่นอกเหนือจากนั้นน้อง ๆ ก็ยังสามารถเอาความรู้ที่ได้จากการเรียนคณะนี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับอาชีพอื่นได้อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น ใครที่มีความถนัดด้านศิลปะก็สามารถเอาจิตวิทยาที่เรียนไปประยุกต์กลายเป็นนักศิลปะบำบัด หรือจะเอาไปต่อยอดกับวิชาการตลาด เป็นนักการตลาด นักประชาสัมพันธ์ได้นะ

Loading

Rate this post

Tags: