การพัฒนาหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเพชรบูรณ์ที่เสริมสร้างการรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย
แหล่งที่มารูปภาพ https://www.kidjapak.com/archives/24927/งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ-2/
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาหลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเพชรบูรณ์ที่เสริมสร้างการรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย และเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยระหว่างก่อนและหลังเรียนโดยใช้หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเพชรบูรณ์ กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเพชรบูรณ์วิทยา จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม เครื่องมือการวิจัย คือ หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเพชรบูรณ์ที่เสริมสร้างการรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทย แบบประเมินความเหมาะสมของหลักสูตร ฯ และแบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การรักษาประเพณีวัฒนธรรมไทย จำนวน 30 ข้อ มีค่าความยากง่ายระหว่าง 0.33-0.77 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.30-0.94 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.96 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานโดยใช้สถิติทดสอบที (t-test Independent) ผลการวิจัยพบว่าหลักสูตรฯ มีความเหมาะสมในภาพรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ4.64 และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานเท่ากับ0.37 หลักสูตรฯ มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ความสำคัญของหลักสูตร 2) วัตถุประสงค์ของหลักสูตร 3) โครงสร้างหลักสูตร มีทั้งหมด 5 หน่วยการเรียนรู้ คือ ประวัติศาสตร์ของเพชรบูรณ์วิถีชีวิตของชาวเพชรบูรณ์ประเพณีและศิลปวัฒนธรรม ตำนานและเรื่องเล่า เหตุการณ์สำคัญและบุคคลสำคัญ 4) กระบวนการจัดการเรียนการสอน และ 5) การประเมินผล และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง การรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้หลักสูตรภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาวเพชรบูรณ์ที่เสริมสร้างการรักษาวัฒนธรรมประเพณีไทยพบว่า คะแนนของนักเรียนหลังเรียนโดยใช้หลักสูตร ฯ สูงกว่าก่อนเรียนโดยใช้หลักสูตร ฯ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01