การปรับตัวของห้องสมุด บทบาทใหม่ในยุคดิจิทัล

  ในอดีตเมื่อต้องการค้นคว้าหาความรู้ อ่านหนังสือ หรือศึกษาวิจัย ทุกคนจะนึกถึงห้องสมุดเป็นอันดับแรกในฐานะศูนย์กลางของข้อมูลสารสนเทศ แต่ในยุคดิจิทัลผู้คนสามารถเข้าถึงความรู้ด้วยตนเองทุกที่ทุกเวลาผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ความต้องการพึ่งพาสารสนเทศจากห้องสมุดน้อยลง

          มีผลการสำรวจพบว่า คนอังกฤษเข้าห้องสมุดลดลงจากร้อยละ 48.2 ในปี 2548 เหลือร้อยละ 33.9 ในปี 2558 ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ามีเวลาน้อยลง และร้อยละ 17 ให้เหตุผลว่า สามารถซื้อหรือเข้าถึงหนังสือได้จากที่อื่น1 ในปีเดียวกันยังมีการสำรวจพบว่าชาวอเมริกันใช้ห้องสมุดร้อยละ 44 ลดลงจากปี 2555 ซึ่งมีผู้ใช้บริการห้องสมุดร้อยละ 532

          ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการยืมคืนหนังสือที่ห้องสมุดลดลงประมาณ 1 เท่าตัวเหลือร้อยละ 8.3 และใช้ห้องสมุดเพื่ออ่านหนังสือเหลือเพียงร้อยละ 0.6 หรือลดลงเกือบ 8 เท่า คิดเป็นจำนวนผู้ใช้ห้องสมุดเป็นสถานที่อ่านประมาณ 2.98 แสนคนเท่านั้น นอกจากนั้นการอ่านหนังสือในห้องสมุดดูเหมือนเป็นเรื่องของเด็กและเยาวชนในวัยเรียน แต่เมื่อพ้นจากวัยเรียนไปแล้วก็แทบจะไม่มีใครอ่านหนังสือในห้องสมุดกันอีก

          ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในรอบสิบปีนี้ห้องสมุดยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 70 แห่งในทุกภูมิภาค ทั้งที่เป็นการบูรณะอาคารเดิมและก่อตั้งห้องสมุดแห่งใหม่ การที่อุปสงค์และอุปทานด้านห้องสมุดกำลังสวนทางกัน น่าจะเป็นเพราะผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาห้องสมุดได้เริ่มตระหนักถึงความท้าทายของยุคดิจิทัล จึงพยายามแสวงหาโมเดลใหม่ๆ ด้วยการสร้างสรรค์ห้องสมุดใหม่ให้แตกต่างไปจากห้องสมุดแบบดั้งเดิม (ที่คงจะเข้าไปปรับเปลี่ยนได้ยาก) เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการยุคใหม่ให้มากที่สุด

Loading

Rate this post

Tags: