จิรภา เหมือนพิมทอง นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์

S 4939788 0
S 4939788 0

            น้ำหนาว เป็นหนึ่งในอำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นพื้นที่ราบบนภูเขา สลับซับซ้อน เนินสูง ๆ ต่ำ ๆ ที่อุดมสมบูรณ์ได้ด้วยพืชพันธุ์และสัตว์ป่านานาชนิด อีกทั้งมีอากาศเย็นตลอดทั้งปี โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และเป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดเพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่นและจังหวัดชัยภูมิ โดยทิศเหนือติดกับอำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ทิศใต้ติดกับอำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ทิศตะวันออกติดกับอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย และอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ด้วยสภาพภูมิศาสตร์ที่ราบสูงทางทิศตะวันตก ที่ติดกับอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ปรากฏห้วยตาดฟ้า ซึ่งอยู่ภายในอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ที่เป็นต้นกำเนิดของน้ำตกตาดใหญ่ น้ำตกตาดใหญ่ เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บ้านดงมะไฟ ตำบลโคกมน อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เกิดจากห้วยตาดฟ้า ที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน อำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น น้ำที่ไหลมาจากห้วยตาดฟ้า เกิดน้ำตกชั้นเล็กๆ ลักษณะของน้ำตกเกิดจากกัดเซาะไปตามรอยแตกของชั้นหินต่าง ๆ หินทราย หินกรวย หินปูน หินดินดานเรื่อยๆ จนมีลักษณะเป็นชั้น ๆ เหมือนขั้นบันได ไหลทอดลดหลั่นกันลงมาที่บริเวณหน้าผาหินสูงชัน ที่มีความสูงประมาณ 80 เมตร มีลักษณะเป็นแอ่งน้ำโค้งขนาดใหญ่ และมีน้ำตกชั้นย่อย ๆ น้อยใหญ่ ลดหลั่น ก่อนไหลลงสู่ลำน้ำเชิญ ความโดดเด่นของน้ำตกตาดใหญ่ บริเวณหน้าผาหิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูน้ำหลาก ที่น้ำไหลจากหน้าผาหินที่มีความสูงชันลงสู่ก้นเหวเบื้องล่าง สายน้ำที่กระทบกับชั้นหินดินดาน หินโคลน มีความสวยงามคล้ายม่านน้ำตก ประกอบกับแอ่งน้ำโค้งที่ถูกปกคลุมด้วยป่าไม้ แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์บริเวณโดยรอบ หมู่หินดาดฟ้าบริเวณน้ำตกตาดใหญ่ วางตัวอยู่ในแนวประมาณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ทิศ ตะวันตกเฉียงใต้ เอียงเทไปทางทิศตะวันออก (11/152) เป็นหินโคลนสีเทาดำถึงเทาเขียว ชั้นบางเด่นชัดเจน ปรากฏอยู่ตลอดแนวชั้นหินโผล่ บางช่วงเป็นชั้นของแร่แคลไซต์ตกผลึกเป็นชั้นบาง พบแร่ไพไรต์เป็นเลนส์ หนา 0.2-1 เซนติเมตรแทรกอยู่บ้างประปราย รอยแยกและรอยแตก จำนวน 2 แนวตัดกัน อยู่ในประมาณ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันตกเฉียงใต้ เอียงเทไปทิศทาง 85-88/330-334 และแนวประมาณทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือ-ทิศตะวันออกเฉียงใต้ เอียงเทไปทิศทาง 80-82/055-077 ข้อมูลแผ่นหินบางเนื้อพื้นสีดำของพวกแร่ดิน มีแถบของชั้นบางชัดเจน แสดงรอยสัมผัสกันเป็นรูปฟันเลื่อย คาดว่าเกิดจากแรงกดทับ ภายหลัง (ธีระพล วงษ์ประยูร และ วิโรจน์ แสงศรีจันทร์, 2551) ชั้นบางประกอบด้วยตะกอนขนาดทรายแป้งกับผลึกแร่เฟลด์สปาร์ รูปร่างกึ่งเหลี่ยมถึงเหลี่ยม ค่อนข้างเรียงขนาดเล็กขึ้นด้านบน (normal grading) การคัดขนาดปานกลาง เม็ดแร่ผุตามขอบด้านนอก บางส่วนผุทั้งผลึก ชั้นหินโผล่มีความหนา ประมาณ 100-150 เมตร (รูปที่ 4.38) (อนุวัชร ตรีโรจนานนท์, รายงานสำนักธรณีวิทยา ฉบับที่ มธ 3/2555 .ลำดับชั้นหินของหมวดหินห้วยหินลาด.กรุงเทพฯ: สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี, 2555. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) จุดท่องเที่ยวน้ำตกตาดใหญ่ จุดที่1 จากจุดจอดรถเดินเท้าเพื่อลัดเลาะลงไปยังน้ำตกถึงบริเวณขอบหน้าผา ระยะทางประมาณ 100 เมตร เส้นทางลาดชัน ในบริเวณนี้จะเป็นน้ำตกชั้นเล็ก ๆ ที่สามารถเล่นน้ำได้ จุดที่2 จากจุดจอดรถใช้บริการรถแทรกเตอร์หรือรถไถชาวบ้าน ตลอดเส้นทางรถเป็นเนินเขา ใช้เวลาในการเดินทางพอสมควร จุดนี้เป็นจุดชมวิวที่มองเห็นบริเวณหน้าผา และตัวน้ำตกตาดใหญ่ สามารถมองดูน้ำตกที่ไหลจากเบื้องบนลงสู่เบื้องล่างได้อย่างสวยงาม จุดที่3 บริเวณก้นเหว ด้านล่างของน้ำตก จากจุดที่2 เดินเท้าต่อลงไปตามทางเดินบันไดในช่วงแรก ตลอดเส้นทางทั้งชันและลื่น ควรใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก ซึ่งด้านล่างนี้สามารถเห็นหน้าผาม่านน้ำตกได้อย่างชัดเจน และเป็นบริเวณที่สามารถเล่นน้ำตกได้ การท่องเที่ยวน้ำตกตาดใหญ่ทั้งได้ชื่นชมกับความสวยงามของธรรมชาติ ความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ พันธุ์ไม้ต่าง ๆ ผาหินที่จัดอยู่ในแหล่งมรดกธรณีวิทยาแล้ว ยังได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านตลอดเส้นทางเข้าไปยังน้ำตก การปลูกพืชไร่ตลอดเส้นทางการนั่งรถแทรกเตอร์ ความสวยงาม ความอลังการของน้ำตกที่ปรากฏให้เห็นสวยงามที่สุดอยู่ในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคมของทุกปี โดยในแต่ละปีปริมาณของน้ำอาจมีความแตกต่างกันไปกัน เอกสารอ้างอิง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. ไฟส์ https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=3077. น้ำตกตาดใหญ่ – อุทยานแห่งชาติภูผาม่าน. 6 มิถุนายน 2567. สภาวัฒนธรรมอำเภอน้ำหนาว. (2542), ประวัติอำเภอน้ำหนาว.เพชรบูรณ์. สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์. (2542), ประวัติหมู่บ้าน อำเภอน้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์. เอกสารประกอบการเรียนการสอนท้องถิ่นของเรา. เพชรบูรณ์: ดี ดี การพิมพ์. อนุวัชร ตรีโรจนานนท์. (2555), ลำดับชั้นหินของหมวดหินห้วยหินลาด. รายงานสำนักธรณีวิทยา ฉบับที่ มธ 3/2555. กรุงเทพฯ: สำนักธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี.

Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Loading

Rate this post