“โอวาทปาฏิโมกข์ หลักธรรมที่เป็น หัวใจของพุทธศาสนา” ความสำคัญของวันมาฆบูชา :

1 OlNiqi1JU2r WsQpGf61vw
       เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์” แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา ๙ เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ
ทั้งนี้ ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง ๔ ประการ อันได้แก่
๑. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
๒. มีพระสงฆ์จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
๓. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา ๖ (ความรู้ยิ่ง ๖ ประการ ได้แก่ ๑. การแสดงฤทธิ์ได้ ๒. หูทิพย์ ๓. ญาณรู้จักกำหนดใจผู้อื่น ๔. การระลึกชาติได้ ๕. ตาทิพย์ ๖. ญาณรู้จักทำอาสวะให้สิ้นไป )
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”
  
     ด้วยเหตุอัศจรรย์ ๔ ประการนี้ วันมาฆบูชา จึงเรียกอีกชื่อว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต”
 
       ประวัติวันมาฆบูชาในประเทศไทย ตามหนังสือ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ซึ่งเป็นบทพระราชนิพนธ์ของ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” มีเรื่องราวเกี่ยวกับการประกอบราชกุศลมาฆบูชาไว้ว่า ประเทศไทยเริ่มกำหนดพิธีปฏิบัติเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ในพระบรมมหาราชวังก่อน ต่อมาได้แพร่หลายออกไปภายนอกพระบรมมหาราชวัง และประกอบพิธีกันทั่วราชอาณาจักร นอกจากนี้ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ รัฐบาลไทยประกาศให้วันมาฆบูชา เป็นวันกตัญญูแห่งชาติอีกด้วย

       วันมาฆบูชา กับหลักธรรมที่ควรนำไปปฏิบัติ
ประกอบด้วย หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ ดังนี้
หลักการ ๓ คือหลักคำสอนที่ควรปฏิบัติ ได้แก่
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. การทำจิตใจให้ผ่องใส
อุดมการณ์ ๔ ได้แก่
๑. ความอดทน อดกลั้น คือ ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
๒. ความไม่เบียดเบียน คือ งดเว้นจากการทำร้าย หรือเบียดเบียนผู้อื่น
๓. ความสงบ ได้แก่ การปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจา ใจ
๔. นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
วิธีการ ๖ ได้แก่
๑. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้าย โจมตีใคร
๒. ไม่ทำร้าย คือ การไม่เบียดเบียนผู้อื่น
๓. สำรวมในปาฏิโมกข์ คือ เคารพระเบียบวินัย กฎกติกา รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของสังคม
๔. รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดีในการบริโภค รวมทั้งการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
๕. อยู่ในสถานที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
๖. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือ การฝึกหัดชำระจิตใจให้สงบ มีประสิทธิภาพที่ดี
 
Subscribe
Notify of
guest
0 Comments
Oldest
Newest Most Voted
Inline Feedbacks
View all comments

Loading

Rate this post